วันที่ 17 ก.ค.64 ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.5 ห้วยลึก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า พร้อมทีมสัตวแพทย์ สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ , นางสาวสุพร พลพันธ์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี , หัวหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์พร้อมหารือแนวทาง หลังพบซากกระทิงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีติดเชื้อลัมปี สกิน จากนั้นคณะทำงานได้เข้าสำรวจพื้นที่อาศัยของกระทิงและสัตว์ป่าที่เป็นสัตว์กีบประเภทเดียวกันภายในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ระหว่างเดินทางพบกระทิงเดินหากิน นายสัตวแพทย์ภัทรพล ได้ทำการตรวจสุขภาพสัตว์ป่าในระยะไกล เบื้องต้นไม่พบรอยโรคที่กระทิงตัวดังกล่าว ต่อมาคณะทำงานได้ทำโป่งเทียมเพิ่มให้กระทิง เพื่อเสริมสร้างแร่ธาตุ หรือหากสัตว์ป่ามีบาดแผลจะมาคลุกที่โป่งสารอาหารและแร่ธาตุในโป่งช่วยฆ่าเชื้อรักษาแผลให้สัตว์ป่าได้ นอกจากนั้นทีมสัตว์แพทย์ได้ติดตั้งมุ้งดักแมลง หลายจุดในพื้นที่ เพื่อดักจับแมลงดูดเลือดไปตรวจสอบหาเชื้อลัมปีสกิน นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กล่าวว่า กรมอุทยานฯได้บูรณาการร่วมกับ กรมปศุสัตว์ เพื่อสกัดโรคลัมปีสกิน และเตรียมยก อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเป็นต้นแบบนำร่องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบเป็นตัวอย่างให้อุทยานทั่วประเทศ โดยยืนยันว่ากระทิงตายจากบาดแผลที่เกิดจากการต่อสู้ ส่วนเชื้อลัมปีสกินที่ตรวจพบเป็นปัจจัยร่วมทำให้ร่างกายอ่อนแอ “ขณะนี้ได้ตรวจสอบพื้นที่การระบาดของโรคลัมปีสกิน จากนั้นได้กำหนดให้พื้นที่อุทยานแห่งชาติ หรือ เขตรักษาพันธุ์ฯ ที่มีสัตว์ป่าประเภทสัตว์กีบ ทั้ง กระทิง วังแดง และควายป่า เพื่อกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษการแพร่ระบาดโรค ใน 5 พื้นที่สำคัญ ได้แก่ อุทยาแห่งชาติกุยบุรี , อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน , ป่ารอยต่อ5จังหวัดบริเวณอ่างฤาไน , พื้นที่ดงพญาเย็น เขาใหญ่ และห้วยขาแข่ง โดยนำโมเดลการปฏิบัติแก้ไขปัญหาของกุยบุรีปรับใช้ในพื้นที่เฝ้าระวัง ขณะนี้มีเพียง 2 แห่งที่พบร่องรอยโรคบนตัวสัตว์ป่าที่ ซากกระทิงในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี และพื้นที่เตรียมประกาศเป็นพื้นที่เขตห้ามล่า ทับเสลา จ.อุทัยธานี โดยเจ้าหน้าที่สามารถถ่ายภาพ ร่องรอยโรคที่ลำตัวของวัวแดง” นายสัตวแพทย์ภัทรพล กล่าว มีรายงานว่า คณะทำงานได้รายงานสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย จากสัตว์เลี้ยงระบาดมาถึงสัตว์ป่าพร้อมแนวทางการแก้ไข ไปยัง องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศได้ทราบสถานการณ์แล้ว นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งให้อุทยานแห่งชาติในเขตพื้นที่รับผิดชอบของ สบอ.3 สาขาเพชรบุรี เฝ้าระวังพื้นที่เป็นพิเศษ โดยเฉพาะ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี เบื้องต้นได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังเข้มข้นในการเข้าพื้นที่อุทยานฯเพื่อป้องกันการนำโรคจากภายนอกเข้าเขตอุทยานฯ ทั้งการฆ่าเชื้อที่รถยนต์ทุกคันและบุคคลทุกคนที่จะผ่านเข้าอุทยานต้องผ่านบ่อน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งหมด สำหรับอุทยานฯอื่นที่มีพื้นที่ติดกับชุมชนที่มีการระบาดของโรคลัมปีสกินให้สำรวจพื้นที่ของตนเองเพื่อเป็นการป้องกัน//////