นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวสุนทรพจน์ในงาน THAILAND ECONOMIC MONITOR เส้นทางการฟื้นตัวทางเศรษศฐกิจ ซึ่งจัดโดยธนาคารโลกวันนี้(16ก.ค.) กล่าวว่า รัฐบาลจะใช้ 3 แนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยระยะต่อไป โดยแนวทางแรก คือ มาตรการในการช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจและประชาชนระยะสั้น ซึ่งมองว่า ยังมีความจำเป็น โดยเฉพาะในส่วนมาตรการทางการเงินนั้น เราได้ดำเนินการพักชำระหนี้(พักหนี้)ใน 10 จังหวัดล็อกดาวน์ระยะ 2 เดือน แต่ก็คิดว่า เราจะยืดระยะเวลามาตรการนี้ให้ยาวออกไปอีก "ขณะนี้ เราได้พักหนี้ 2 เดือน แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เร็ว รายได้ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถได้เงินสดมาชำระหนี้ได้ทัน คงต้องติดตามต่อไป การช่วยเหลือการเงินจะยืดออกไปอีกหรือไม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในระบบนอกระบบมีลมหายใจต่อชีวิตการทำธุรกิจปีนี้และปีหน้า ฉะนั้นมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น คือ การเยียวยา มาตรการการเงิน กระตุ้นบริโภคระยะสั้น จำเป็นต้องทำก่อนเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่" แนวทางที่สอง คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจรองรับการฟื้นตัวยั่งยืน ประเด็นนี้ รัฐบาลจะดำเนินการผ่านนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวที่ลดการใช้พลังงานและหันมาใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้ก๊าซคาร์บอน ใช้ดิจิทัลอีโคโนมี และส่งเสริมเฮลท์แคร์ และแนวทางที่สาม คือ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค โดยจะดำเนินการผ่านการปฏิรูปโครงสร้างรายได้ เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ที่ยั่งยืนรองรับวิกฤตต่างๆ และทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะการมีหลักประกันทางสังคมให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามเราเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564 ซึ่งกรณีไทย คือ การส่งออกในเดือนพ.ค.และมิ.ย.ถือว่า ส่งออกได้ดี ดีกว่าหลายปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็ว่า ภาคการผลิตยังดำรงอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ภาคผลิตก็มีการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์โรงงาน ยังมีการติดเชื้อทุกวันนี้ ฉะนั้น มาตรการสาธารณสุขก็เข้าไปตรวจหาเชื้อเชิงรุก เพื่อป้องกันฐานการผลิตถูกกระทบมากไป ส่วนภาคท่องทเที่ยวปีนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการดูแลผ่านโครงการภูเก็ตแซนบล็อก เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว และมีโครงการที่สอง คือ สมุยพลัส ซึ่งทั้งสองพื้นที่ ก็มีมาตการเข้มงวดด้านสาธารณสุข