เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่รัฐสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมคณะกมธ.ฯ กรณีการตรวจสอบร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่กมธ.เคยพิจารณาต่อเนื่องมา โดยเชิญอดีตปลัดกรวงการต่างประเทศ ช่วงปี 59 – 63 และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ คนปัจจุบันมาสอบถามเกี่ยวกับการประสานข้อมูลไปยังออสเตรเลีย ในการขอคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ โดยได้รับการชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศเคยสอบถามไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงแคนเบอร์รา และสามารถขอสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงด้วยการทำหนังสือไปขอได้เลย ส่วนศาลอุทธรณ์จะต้องมีการกรอกตามแบบฟอร์มคำขอ พร้อมกับชี้แจงว่าเคยสอบถามข้อมูลไปยังร.อ.ธรรมนัส แต่ไม่ได้รับคำตอบจึงไม่สามารถดำเนินการได้ นายธีรัจชัย กล่าวว่า กมธ.ป.ป.ช. เคยขอข้อมูลไปยังศาลแขวงและศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ส่งมาให้ กระทรวงการต่างประเทศก็สามารถติดตามข้อมูลได้จากกมธ.แต่กลับไม่ถาม แต่ไปถาม ร.อ.ธรรมนัส จึงเกิดคำถามว่าปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่อย่างเต็มที่หรือไม่ นอกจากนี้ กมธ.ป.ป.ช.ยังเคยได้รับหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศ ในปี 40 ที่ส่งคดีร.อ.ธรรมนัส มายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แสดงว่ากระทรวงการต่างประเทศ มีข้อมูลร.อ.ธรรมนัสอยู่แล้ว โดยป.ป.ส.ได้มาชี้แจง และแนบเอกสารดังกล่าวให้กมธ.ป.ป.ช. ซึ่งมีเอกสาร 2 ฉบับ แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับบอกว่าไม่มีข้อมูล จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการปฏิบัติหน้าที่กรณีของร.อ.ธรรมนัส กระทรวงการต่างประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วนหรือไม่ ทางคณะกมธ.ป.ป.ช. จึงให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังศาลอีกครั้ง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าสามารถทำได้ แต่ไม่ได้มีการรับปากว่าจะดำเนินการให้ นายธีรัจชัย กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 6/2564 เรื่องคุณสมบัติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรี ของร.อ.ธรรมนัส ปรากฎว่าในหน้าที่ 5 มีคำวินิจฉัยในวรรคแรกบอกว่าเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาอาศัยตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2561 มาตรา 27 วรรค 3 ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเรียกสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 13 มีนาคม 2537 และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง และปลัดกระทรวงต่างประเทศ เพื่อดำเนินการช่องทางการทูต โดยมีทางราชการรับรองสำเนาถูกต้อง คำว่าเพื่อดำเนินการช่องทางการทูต กมธ.ได้ติดใจมาโดยตลอดว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 27 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน สามารถสั่งการให้หน่วยงานราชการดำเนินการใดๆได้ และเมื่อสั่งแล้วเหตุใดกระทรวงต่างประเทศถึงไม่ทำตามช่องทางการทูต นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า ปลัดกระทรวงต่างประเทศชี้แจงว่า สำเนาของคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 13 มีนาคม 2537 และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ รัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย ลงวันที่ 10 มีนาคม 2538 เป็นข้อมูลทางการออสเตรเลียและไม่อยู่ในความครอบครองของกระทรวงต่างประเทศ จึงไม่สามารถที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ ตนจึงได้ถามต่อว่าทำไมจึงปฏิเสธเช่นนี้ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้เป็นการดำเนินการทางช่องทางการทูต ไม่ทำก็ถือว่าเป็นการขัดคำสั่ง ซึ่งได้รับคำตอบว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งให้ดำเนินการทางการทูต ในส่วนนี้ตนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดศาลรัฐธรรมนูญเขียนว่าเพื่อดำเนินทางการทูตด้วยหากไม่ได้สั่ง ตนจึงขอเอกสารที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งให้ ทางปลัดกระทรวงต่างประเทศได้ส่งให้ดู และตนได้ตรวจสอบพร้อมให้ถ่ายไว้ ปรากฏว่าไม่มีในหมายเรียกของศาลรัฐธรรมนูญที่ 49/2563 ลงวันที่ 29 กันยายน 2563 หากเป็นเช่นนี้จริงกระทรวงต่างประเทศก็ไม่ผิด แต่ทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงเขียนไว้ในคำพิพากษา ตนคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องชี้แจงในเรื่องนี้ให้ประชาชนได้ทราบ ซึ่งจะมีการสอบถามไปยังสำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญว่าตามหนังสือเรียกนี้จริงหรือไม่