สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “พระตระกูลพระพิจิตร” นั้น ปัจจุบันไม่ว่าพิมพ์ไหนกรุไหน ก็ล้วนมีค่านิยมสูงทั้งสิ้น แม้จะลดหลั่นกันตามพิมพ์นิยมไม่นิยมก็ตาม แต่ก็ทำให้กระเป๋าเบาได้เช่นกัน กล่าวถึง “พระพิจิตรหัวดง” พระพิจิตรอีกพิมพ์หนึ่งที่มีต้นกำเนิดที่ จ.พิจิตร แท้ๆ พุทธคุณก็ล้ำเลิศไม่เป็นรองใคร ซึ่งอาจเป็นเพราะรู้กันในวงแคบ ไม่มีการกระจายหรือเผยแพร่เท่าที่ควร ในสมัยก่อนค่านิยมจึงอยู่ในลำดับปลายๆ จนถึงปัจจุบันจึงยังนับว่าถูกกว่า “พระพิจิตร” อื่นๆ ที่เราท่านยังพอหาดูหาเช่าได้อยู่ แต่ก็ยังมีการทำเทียมเลียนแบบเช่นกัน พระพิจิตรหัวดง เป็นพระพิจิตรที่ถอดเค้าแบบมาจาก ‘พระท่ากระดาน จ.กาญจนบุรี’ ยอดขุนศึกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง มีพุทธคุณโดดเด่นในด้านคงกระพันชาตรี มหาอุด และป้องกันไฟ ลักษณะพิมพ์ทรง เป็นรูปทรงสามเหลี่ยม องค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย พระเกศเป็นแบบ ‘เกศปลี’ แหลมและยาว, พระพักตร์ใหญ่และยาว ดูเหมือนผิดส่วน คล้ายพระท่ากระดาน, พระเพลา ยื่นล้ำมาทางด้านหน้าอย่างเด่นชัด คล้ายพระท่ากระดานเช่นกัน เท่าที่พบมี 2 เนื้อ คือ เนื้อชินเขียว และเนื้อชินเงิน โดย ‘เนื้อชินเงิน’ จะมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย แต่รูปพรรณสัณฐานใกล้เคียงกัน ด้านหลัง เป็นหลังลายผ้าเช่นเดียวกับพระสกุลพิจิตรทั่วไป พระพิจิตรหัวดง ที่มีการทำเทียมเลียนแบบออกมาเท่าที่พบจะเป็น ‘พระเนื้อชินเขียว’ จึงต้องใช้การพิจารณาให้ละเอียด ในด้านพิมพ์ทรงนั้น จากเอกลักษณ์เฉพาะที่ได้กล่าวไปแล้ว จะหาความเป็นมาตรฐานค่อนข้างยาก อาจมีจุดตำหนิเล็กน้อยที่แตกต่างกันออกไป อาทิ ความลึกของพิมพ์ พระเกศก็จะมีทั้งเกศตรงและเกศคด จนบางครั้งมองเป็น ‘พระท่ากระดาน’ ก็มี จึงต้องมาดูกันที่ความเก่าของเนื้อองค์พระที่น่าจะมีอายุการสร้างมาไม่น้อยกว่าสมัยอยุธยา และปฏิกิริยาของเนื้อมวลสารที่ผ่านการบรรจุในกรุมาเนิ่นนานกว่า 4 – 500 ปี โดยพิจารณาจาก ‘คราบไข สนิมขุม และรอยระเบิด’ “พระพิจิตรหัวดง เนื้อชินเขียว” ตามธรรมชาติแล้วจะไม่ระเบิดแตกปริเหมือน ‘เนื้อชินเงิน’ แต่จะมี “คราบไข” ลักษณะเหมือนไขวัว ขึ้นเป็นเม็ดขาวใสพอกพูนซ้อนกัน บางองค์มีลักษณะใกล้เคียงกับไข่แมงดา บางท่านจึงเรียกว่า “สนิมไข่แมงดา” ถ้าเป็นสนิมเทียมเม็ดจะไม่เต็งและสดใส แต่จะมีลักษณะเป็นแผ่นๆ ติดกันเป็นพืด เมื่อล้างหรือแช่ด้วยทินเนอร์ก็จะละลายออกทันที ของแท้ๆ จะติดแน่นล้างออกยากมาก สำหรับ “พระพิจิตรหัวดง เนื้อชินเงิน” ต้องสังเกตความเก่าจากสนิมไข สนิมขุม และรอยระเบิด ‘สนิมไข’ จะไม่เป็นเม็ดเต่งแบบเนื้อชินเขียว จะเป็นเพียงคราบไขสีขาวอมเหลืองเป็นเม็ดๆ ไม่เต่งนูน แทรกอยู่ในเนื้อองค์พระเป็นจุดๆ มากน้อยไม่เท่ากัน ‘สนิมขุม’ เป็นสนิมที่กัดกร่อนลึกลงไปในเนื้อขององค์พระ ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง คล้ายรอยขี้กลากที่ขึ้นตามผิว เมื่อส่องกล้องดูจะมีลักษณะสูงๆ ต่ำๆ เป็นธรรมชาติ ส่วนสนิมเทียมนั้นจะใช้น้ำกรดหยดเพื่อกัดเนื้อองค์พระเป็นจุดๆ ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนสนิมแท้ ส่วน ‘รอยระเบิด’ จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่จะแสดงความเก่าออกมาตามธรรมชาติของเนื้อชินเงินที่มีส่วนผสมของดีบุกและตะกั่ว ซึ่งเมื่อผ่านกาลเวลากระทบกับความร้อนและความเย็นจึงเกิดการออกซิไดซ์ จะเป็นการแตกปริจากภายในออกสู่ภายนอก ของเทียมจะระเบิดจากภายนอกเข้าข้างในครับผม