วันที่ 14 ก.ค. นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน ทำให้มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รอเตียงในโรงพยาบาล เพื่อเป็นการบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว กทม.จึงได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ หรือ Community Isolation เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต โดยแยกผู้ป่วยออกมาจากบ้าน นำมาพักคอยที่ศูนย์ฯ มีการคัดกรองอาการและดูแลในเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาล ลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งการจัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต กทม.ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของสถานที่ ความสะดวกในการเดินทางเข้า-ออก โดยปรับปรุงสถานที่ให้มีความเหมาะสมมีองค์ประกอบครบถ้วน รวมทั้งเตรียมพร้อมจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย และประสานสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ร่วมดูแลความปลอดภัย โดยมีทีมแพทย์จากโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครและศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วย
นางศิลปสวย กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กทม.ได้เปิดศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขตจำนวน 14 ศูนย์ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 2,176 เตียง แต่จะขยายเพิ่มเติมให้ครบ 23 แห่ง เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 3,103 รายประกอบด้วย
1.กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ เขตบางเขนใช้พื้นที่ศูนย์กีฬารามอินทรา รองรับได้ 150 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ เขตจตุจักรใช้พื้นที่ศูนย์กีฬาประชานิเวศน์ รองรับได้ 180 เตียง และศูนย์สร้างสุขทุกวัยจตุจักร รองรับได้ 120 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลกลาง เขตดอนเมืองใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยดอนเมือง รองรับได้ 150 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลกลาง ส่วนเขตหลักสี่ใช้พื้นที่โรงเรียนการไปรษณีย์ รองรับได้ 120 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลกลาง เขตลาดพร้าวใช้พื้นที่สำนักงานสนับสนุนและส่งเสริมวิชาการ 2 ซ.ประดิษฐ์มนูธรรม 19 รองรับได้ 100 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลกลาง ทั้ง 2 ศูนย์อยู่ระหว่างดำเนินการ
2.กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง เขตพระนครใช้พื้นที่อาคารปฏิบัติธรรม วัดอินทรวิหาร รองรับได้ 200 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ส่วนเขตดินแดงใช้พื้นที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนฯ ไทย-ญี่ปุ่น รองรับได้ 150 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ส่วนเขตห้วยขวางใช้พื้นที่อาคารทางเข้า RCA ฝั่ง TOP รองรับได้ 145 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ทั้ง 2 ศูนย์อยู่ระหว่างดำเนินการ
3.กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ เขตคลองเตยใช้พื้นที่วัดสะพาน รองรับได้ 250 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลสิรินธร เขตสวนหลวงใช้พื้นที่วัดปากบ่อ รองรับได้ 140 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลสิรินธร
4.กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก เขตหนองจอกใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยหนองจอก รองรับได้ 100 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลเวชการุณรัศมิ์ เขตลาดกระบังใช้พื้นที่ร้านอาหารจงกั๋วเหยียน รองรับได้ 250 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร เขตสะพานสูงใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยสะพานสูง รองรับได้ 146 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลคลองสามวา ส่วนเขตบางกะปิใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางกะปิ รองรับได้ 150 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลบางนา อยู่ระหว่างดำเนินการ เขตคันนายาวใช้พื้นที่อาคารฝั่งตรงข้ามสยามอะเมซิ่งพาร์ค สวนสยาม อยู่ระหว่างสำรวจ
5.กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ เขตบางกอกน้อยใช้พื้นที่วัดศรีสุดารามวรวิหาร รองรับได้ 90 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตคลองสานใช้พื้นที่อาคารกิจไพบูลย์ อิมพอร์ต รองรับได้ 130 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลตากสิน ส่วนเขตทวีวัฒนาใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยทวีวัฒนา รองรับได้ 110 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลตากสิน เขตธนบุรีใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา อาคารพระยาสีหราชเดโชทัย รองรับได้ 100 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลตากสิน ทั้ง 2 ศูนย์อยู่ระหว่างดำเนินการ
6.กลุ่มเขตกรุงธนใต้ เขตบางแคใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแค (เรืองสอน) รองรับได้ 150 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ฯ เขตบางขุนเทียนใช้พื้นที่ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางขุนเทียน รองรับได้ 120 เตียง อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน