นักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก โพสต์ทวิตเตอร์แก้ไขความเห็นกรณีออกมาเตือนถึงอันตรายในการฉีดไขว้วัคซีนโควิด-19 ชี้บุคคลใดๆไม่ควรตัดสินใจด้วยตนเอง แต่ต้องอยู่ในการตัดสินใจของแพทย์จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ "นายกฯ"ยันไม่ระงับฉีด"วัคซีนผสมสูตร" ขอรับฟังความเห็นพิจารณารอบคอบ ย้ำเร่งฉีดวัคซีนสกัดสายพันธุ์เดลตา ขณะที่"ศบค."แถลงพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 9,317 ราย คลัสเตอร์เรือนจำ 129 เสียชีวิต 87 คน จากกรณี ดร.โสมยา สวามีนาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (ฮู) ออกมาเตือนจากกรณีที่ประเทศต่างๆ ออกนโยบายการฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน หรือการฉีดไขว้ เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชน โดยระบุว่า เป็นแนวโน้ม หรือเทรนด์ ที่อันตราย เนื่องจากยังมีข้อมูลการวิจัยว่าด้วยการฉีดวัคซีนในลักษณะเช่นนี้น้อยมาก จนไม่อาจทราบได้ว่า จะเกิดผลข้างเคียงแก่ผู้รับการฉีดอย่างไร รวมถึง อาจเกิดความวุ่นวาย หากประชาชนในประเทศนั้นๆ จากการตัดสินใจฉีดวัคซีนเข็มต่อๆ ไป เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.ค.64 ดร.โสมยา สวามีนาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (ฮู) ได้เขียนบนทวิตเตอร์ชี้แจงความเห็นของเธอในเวลาต่อมา ว่า "บุคคลใดๆไม่ควรตัดสินใจด้วยตนเอง หน่วยงานสาธารณสุขสามารถทำได้ บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่" ดร.โสมยา ระบุอีกว่า ยังต้องรอข้อมูลการศึกษาวัคซีนสลับชนิดของวัคซีนต่างยี่ห้อ จำเป็นต้องประเมินความสามารถในการกระตุ้นสร้างแอนติบอดีและความปลอดภัย โดยวัคซีนของไฟเซอร์ ควรถูกใช้เป็นวัคซีนเข็มที่ 2 หลังเข็มแรกฉีดวัคซีนของแอสตร้า เซเนก้า หากว่าวัคซีนอย่างหลังไม่สามารถหาได้ การทดลองทางคลินิกที่นำโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดในสหราชอาณาจักร อยู่ระหว่างการตรวจสอบการฉีดวัคซีนสลับชนิดระหว่างแอสตร้า เซเนก้า และไฟเซอร์ และเมื่อเร็วๆนี้การทดลองได้ขยายขอบเขตครอบคลุมถึงวัคซีนของโมเดอร์นา และโนวาแว็กซ์ ด้วยเช่นกัน วันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มีนโยบายเน้นการจัดหาและฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด ในขณะเดียวกันก็ได้เก็บสถิติการฉีดวัคซีนโดยคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนแม้ไม่ป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่สามารถลดความรุนแรงและลดการเสียชีวิตได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นายอนุชา กล่าวว่า สำหรับการใช้วัคซีนผสมสูตร สิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้คือการเร่งฉีดให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด เพราะสายพันธุ์เดลต้ามีการระบาดที่รุนแรง และติดต่อได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา และกำลังเป็นปัญหาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งวัคซีนทุกชนิดสามารถลดความรุนแรงและลดความเสี่ยงเสียชีวิต ส่วนการวิจัยในไทยนั้นก็เป็นอีกแนวทางแก้ปัญหาหนึ่ง ที่แสดงถึงความพยายามของคณะแพทย์ของไทยที่ไม่หยุดคิด ไม่ยอมแพ้กับปัญหา ครั้งนี้ก็พยายามเอาชนะสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งก็ต้องพยายามหาทุกวิถีทางที่ดีที่สุด และทำอย่างเป็นระบบ และหวังว่าจะประสบความสำเร็จ จนเป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในที่สุด โดยรัฐบาลเปิดกว้างและส่งเสริมให้มีการแสวงหาทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุด สิ่งสำคัญคือรัฐบาลจะต้องให้ความรู้อย่างรอบด้านแก่ประชาชน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีไม่มีนโยบายที่จะระงับการใช้วัคซีน ผสมสูตร แต่อย่างใด และขอให้ทุกฝ่ายรับฟังความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในกรณี วัคซีนผสมสูตร/สลับสูตร เพื่อนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วย นายอนุชา กล่าวว่า ทั้งนี้ มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่สำคัญคือ องค์การอนามัยโลก (WHO) โดย ดร.โสมยา สวามีนาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่า ประชาชนไม่ควรตัดสินใจเองในเรื่องนี้ แต่ควรเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานของรัฐด้านสาธารณสุข บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ ทั้งในส่วนของภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา ที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 หรือ ศบค. รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมของประเทศไทย ว่า พบจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้น 9,317 ราย แบ่งออกเป็นติดเชื้อใหม่ในประเทศ 9,188 ราย ติดเชื้อในเรือนจำ-ที่ต้องขัง 129 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 87 คน ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในช่วงการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ตั้งแต่ 1 เมษายน - 14 กรกฎาคม 2564 มีจำนวน 334,166 ราย เสียชีวิตสะสม 2,840 คน ส่วนผู้ติดเชื้อสะสมนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดเมื่อต้นปี 2563 มีจำนวน 363,029 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,934 คน ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมอยู่ในอันดับที่ 60 ของโลก ยอดผู้หายป่วยจากโควิด-19 ในประเทศ ผู้หายป่วยรายใหม่วันนี้ 5,129 ราย ผู้หายป่วยสะสม 233,158 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน - 14 กรกฎาคม 2564) สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. จะเป็นผู้แถลงสถานการณ์เพิ่มเติมเวลา 12.30 น.