จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ยะลา ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการ จ.ยะลา ได้มีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 จังหวัดยะลา ที่ 163/2564 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วยเรื่อง แนวทางปฏิบัติในการปฏิบัติศาสนกิจ ในการละหมาดอีดิ้ลอัฎฮา หรือ อีดกุรบ่าน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1442 ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564 ซึ่งจุฬาราชมนตรีได้มีประกาศ เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วย แนวทางและวิถีปฏิบัติศาสนกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ปัจจุบัน และการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) (ฉบับที่ 7/2564) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564
นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา/ผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า สำหรับในเรื่องของการงดละหมาดรายออีดิ้ลอัฎฮา ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1442 กรณีดังกล่าว เป็นคำสั่งของจังหวัดยะลา เพราะว่าในช่วงนี้มีการติดเชื้อโควิด-19 กำลังมาแรงการ ซึ่งมีการเคลื่อนไหวมาก โดยมีการเคลื่อนที่มีการเดินทางต่างๆ ตอนนี้จะต้องงดเว้นแม้กระทั่งการรวมกลุ่มทั้งหลายไม่สมควรจะมีในช่วงนี้ ถือว่าเป็นคำสั่งที่ดีแล้ว เพราะว่าในวันรายอฮัจญี เป็นวันสำคัญที่จะต้องพบกันปีละครั้งเท่านั้น แต่ด้วยในปีนี้ความจำเป็นต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากขึ้น วันรายอีดิ้ลอัฎฮา ซึ่งเป็นปีละครั้ง ปกติแล้วจะมีการไปรวมตัวกันที่สนามต่างๆ ที่มัสยิดต่างๆ เพื่อไปทำพิธีในการละหมาด แต่ภาวะอย่างนี้การทำละหมาดวันรายอที่บ้านก็ได้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่ต้องทำแบบนี้ โดยในปีที่แล้ว จังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียงมีเชื้อโรคมาก ฉะนั้นอย่าเป็นตัวแพร่เชื้อร้าย ที่จะนำให้สิ่งร้ายเหล่านี้ไปสู้สังคมภายนอกได้ เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว พี่น้องประชาชนต้องใจเย็น ต้องทำใจ ในเมื่อรู้แล้วว่าวันรายอฮัจญี ในปีนี้มีการงด-ห้ามเดินทางเพราะฉะนั้นเดินทางในช่วงจำกัด ช่วงก่อนที่จะถึงวันรายอฮัจญี 1 - 2 วันนี้ มารวมตัวกันก่อน เพื่อเป็นการคัดกรองอย่างละเอียด แต่อย่างไรก็ตามถ้ามาจากต่างพื้นที่หรือต่างจังหวัดจะต้องมีการคัดกรองตนเองเสียก่อน เพราะว่าสิ่งที่มีภายในตัวเราจะไปแพร่ กระจายออกไป สิ่งสำคัญตอนนี้หน้ากากอนามัย(แมส)เป็นสิ่งสำคัญที่สุดแม้จะอยู่ภายในครอบครัวตัวเองก็ตาม ทางจุฬาราชมนตรีออกกฎเกณฑ์แล้วว่าในการเชือดกุรบ่านนี้ใช้วิธีมอบอำนาจในการปฏิบัติ เพราะฉะนั้นการซื้อขายจะส่งมอบให้ผู้เชือดทำพิธีเราไม่ต้องไปจับเชือกวัวด้วยตนเอง เราต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีอำนาจสูงสุดจุฬาราชมนตรีได้