นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ From Gen Z to be CEO สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จํานวน 1,500 ราย ที่สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ผ่านระบบ Zoom Webinar โดยมีนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมด้วย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวกับนักศึกษาว่า นโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ในการปั้น Gen Z ให้มีโอกาสเติบโต เป็น CEO ในอนาคต เพื่อทำรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัว และมีส่วนช่วยในการเพิ่มยอดการส่งออก และนำรายได้เข้าประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่การส่งออก ถือเป็นเครื่องจักรตัวสำคัญ ที่ยังทำรายได้อยู่ โดยในการขับเคลื่อนการส่งออก ได้กำหนดนโยบายไว้ชัดเจนว่ากระทรวงพาณิชย์ยุคใหม่จะทำงานร่วมกับภาคเอกชนและภาคส่วนต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด ด้วยกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนของกระทรวงพาณิชย์ หรือ กรอ.พาณิชย์ ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ที่ให้ความสำคัญกับการทำเกษตรมูลค่าสูง โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และยังได้ปรับกิจกรรมการส่งออกในยุค New Normal จากออฟไลน์ เป็นออนไลน์ และรูปแบบผสมผสานที่เรียกว่าไฮบริด โดยมีทีมเซลส์แมนพาณิชย์ร่วมกันทำงาน มีตนเป็นหัวหน้าทีม มีพาณิชย์จังหวัดเป็นเซลส์แมนจังหวัด มีทูตพาณิชย์เป็นเซลส์แมนประเทศ ทำหน้าที่ขายสินค้าไทย ทั้งนี้ผลการผลักดันส่งออก เฉพาะเดือนพ.ค.64 เดือนเดียวสามารถทำรายได้กว่า 7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.59% และยังได้เร่งผลักดันการค้าชายแดน ที่เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มตัวเลขส่งออก โดยได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการเร่งรัดเปิดด่านเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่เปิดอยู่ 46 ด่านจากทั้งหมด 97 ด่าน นอกจากนี้จะเร่งสร้างผู้ประกอบการส่งออก เพื่อเป็นแม่ทัพรุ่นใหม่ทำการค้าบุกตลาดโลกนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันเรามี SMEs ทั่วประเทศ 3 ล้านราย เป็น SMEs ส่งออก 3 หมื่นราย ต้องผลักดันให้มีเพิ่มเป็น 4 หมื่น 5 หมื่นจนถึง 1 แสนราย ซึ่งการทำโครงการ Gen Z to be CEO นี้จะช่วยเพิ่มจำนวนแม่ทัพส่งออกรุ่นใหม่ โดยเดิมตั้งเป้าหมายไว้ 12,000 คน ทำ MOU กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ 93 แห่ง ตอนนี้สมัครมา 14,000 คน อบรมเสร็จไปแล้วประมาณ 4,000 คน คาดว่าปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 15,000 คน จากเป้าที่ตั้งไว้ 12,000 คน ถือว่าตอนนี้ทะลุเป้าแล้ว โดยหวังว่านิสิต นักศึกษาทั้งหลาย ที่ผ่านการอบรมจะเป็นแม่ทัพของประเทศในการนำรายได้เข้าประเทศต่อไป สำหรับผู้ที่ผ่านการอบรม รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลาง เล็ก และย่อม และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ กระทรวงพาณิชย์ได้มีนโยบายพิเศษ โดยจะเปิดพื้นที่ในการจัดงานแสดงสินค้า ให้นำสินค้าและบริการมาจัดแสดง เพื่อให้ผู้ซื้อ ผู้นำเข้าเข้ามาเลือกซื้อสินค้า หรือเลือกซื้อผ่านออนไลน์ โดยจะกันพื้นที่ให้ 5-15% เพื่อให้มีการนำสินค้าและบริการไปขายเพื่อทำตลาดต่างประเทศ และยังจะนำไปโรดโชว์เจาะตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ด้วย ขณะเดียวกันนายจุรินทร์ ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้แทนนักศึกษา ถาม-ตอบ ในเรื่องที่อยากรู้อย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง เช่น ผู้แทนจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีจังหวัดอุดรธานี ถามว่า มีวิธีอย่างไรในช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ต่ำไปกว่านี้ เพื่อทำให้เกษตรกรอยู่รอดได้ นายจุรินทร์ ตอบว่า แม้เราจะเจอโควิด-19 แต่ราคาพืชผลทางการเกษตรใน 1-2 ปีอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะได้เข้าไปแก้ปัญหาเชิงรุกทันท่วงทีตั้งแต่ก่อนผลไม้ออกสู่ตลาด ยุคนี้ “ทำได้ไวทำได้จริง” และพืชเกษตรสำคัญ 5 ตัว ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้ราคาดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ แต่เมื่อไรที่ราคาตก รัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้เกษตรกรคอยช่วยเหลืออยู่ ส่วนผลไม้ ได้ใช้ยาขนานอื่น ซึ่งทำให้ราคาดีต่อเนื่อง หลังจากนั้น นายจุรินทร์ได้เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาหลักสูตร เกษตรทันสมัย พาณิชย์ขายให้ออนไลน์ทั่วโลก รุ่นที่ 2 ภายใต้นโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” และโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจส่งออกรุ่นที่ 140 ผ่านระบบ Zoom webinar โดยได้ย้ำกับผู้ประกอบการว่า ต้องทำการผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อเพิ่มราคาให้กับสินค้า และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ จะผลิตสินค้าแบบเดิมซึ่งเป็นสินค้าพื้นฐาน หรือแค่แปรรูปเพียงอย่างเดียวไม่ได้ และต้องตามให้ทันกระแสของโลกว่าต้องการสินค้าชนิดไหน ซึ่งที่เด่นๆเช่น ออร์แกนิก อาหารแนวใหม่ อาหารฮาลาล อาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น