วันนี้ (13 กรกฎาคม 2564) พลเรือตรี ชัยณรงค์ บุณยรัตกลิน ผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพ ได้วางพานพุ่มถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงนำประเทศไทยพ้นภัยจากการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในสมัยดังกล่าว พร้อมทั้งคล้องปากกระบอกปืนเสือหมอบ เพื่อเป็นการสดุดีวีรชนในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม 2564 ซึ่งถือว่าครบรอบ 128 ปี แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ได้มีการระบาดอย่างหนักคณะกรรมการจัดงานวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 จึงงดการจัดงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ตามมาตรการศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด เหตุการณ์ ร.ศ.112 ตรงกับปีพุทธศักราช 2436 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในช่วงนั้นชาติตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลสำคัญทางแถบเอเชีย โดยจุดประสงค์ที่สำคัญก็คือการแสวงหาอาณานิคมประเทศต่างๆ เช่น ญวน เขมร ลาว ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนพม่าและมลายูตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดี จึงได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าบริเวณปากร่องน้ำเจ้าพระยา ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และได้จัดซื้ออาวุธปืนทันสมัย เรียกว่า ปืนเสือหมอบ จากประเทศอังกฤษจำนวน 10 กระบอก เพื่อติดตั้งที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและที่ป้อมผีเสื้อสมุทร ในอดีตถือได้ว่าเป็นป้อมปราการที่มีความสำคัญและทันสมัยในการป้องกันอริราชศัตรูที่รุกล้ำดินแดนจากทางทะเลเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นปราการด่านหน้าสำหรับการป้องกันประเทศ การยุทธ์ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาหรือวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เกิดขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 เมื่อเรือรบฝรั่งเศสประกอบด้วยเรือแองคองสตังค์ และเรือโคแมต ได้รุกล้ำผ่านสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา ขณะที่ฝ่ายไทยมีเรือมกุฎราชกุมาร เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เรือนฤเบนทร์บุตรี เรือหาญหักศัตรู และเรือทูลกระหม่อม จอดระวังเหตุการณ์อยู่ที่แนวป้องกัน พร้อมทั้งมีทหารประจำการอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร แม้ว่าผู้แทนฝ่ายไทยได้ขึ้นไปเจรจากับผู้บังคับการเรือรบฝรั่งเศส แต่ก็ไร้ผล เรือรบฝรั่งเศสยังคงแล่นผ่านสันดอนปากแม่น้ำเข้ามา จึงเกิดการยิงต่อสู้กันระหว่างปืนเสือหมอบที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า กับปืนใหญ่จากเรือรบของฝรั่งเศส และการสู้รบระหว่างเรือรบฝรั่งเศสกับเรือรบฝ่ายไทย แต่ในที่สุด ด้วยกำลังแสนยานุภาพที่แตกต่างกันอย่างมาก เรือรบฝรั่งเศสทั้งสองลำก็สามารถตีฝ่าแนวป้องกันของไทยเข้าไปจอดทอดสมอที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส สมทบกับเรือลูแตงที่จอดสมออยู่ที่สถานทูตของฝรั่งเศสอยู่ก่อนแล้วได้สำเร็จ ผลจากการสู้รบครั้งนั้นทำให้ทหารไทยเสียชีวิต 8 นาย และบาดเจ็บอีก 41 นาย ส่วนทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นาย และบาดเจ็ด 3 นาย จากผลของวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นทำให้ประเทศสยามต้องเสียเงิน ค่าปฏิกรรมสงคราม จำนวน 3 ล้านฟรังก์ กับต้องสูญเสียดินแดนไปถึง 1 ใน 3 ของผืนแผ่นดินสยามทั้งหมด ดังนี้ ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ประเทศลาว) 143,000 ตารางกิโลเมตร ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (เมืองมโนไพร จำปาศักดิ์ อาณาจักรล้านช้าง) 62,500 ตารางกิโลเมตร และมณฑลบูรพา (พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ) เนื้อที่ 51,000 ตารางกิโลเมตร ไปเป็นอาณานาคมของฝรั่งเศส เพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติไทยไว้ เหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังความโทมนัสและเสียพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่าการว่าจ้างชาวต่างประเทศเป็นผู้บังคับการเรือ และป้อมนั้นไม่เป็นหลักประกันพอที่จะรักษาประเทศได้ สมควรที่จะต้องบำรุงกำลังทหารเรือไว้ป้องกันภัยด้านทะเล และต้องใช้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศทั้งหมด และการที่จะให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศได้นั้นต้องมีการศึกษาฝึกหัดเป็นอย่างดีจึงจะใช้การได้ จึงทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ออกไปศึกษาวิชาการ ทั้งในด้านการปกครอง การทหารบก ทหารเรือ และอื่นๆ ในทวีปยุโรป รวมทั้งได้ทำการฝึกนายทหารเรือไทย เพื่อปฏิบัติงานแทนชาวต่างประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้กิจการทหารเรือมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศตราบจนปัจจุบัน