"โฆษกศบศ."ซัดผู้ไม่หวังดีสร้าง"เฟคนิวส์" ปิดภูเก็ตแซนด์บ็อก ไม่จริง โวนักท่องเที่ยวแห่เดินทางไม่หยุด คาด3เดือนมีนักท่องเที่ยวกว่า 1 แสนคน สร้างรายได้ 8,900ล้านบาท ขณะที่ "ประกันสังคม" แจงขั้นตอนเยียวยานายจ้าง-ผู้ประกันตนมาตรา 33 รับผลกระทบจากมาตรการรัฐ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆ ษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย ประเด็น Phuket Sandbox ควบคุมการแพร่โควิด-19 ไม่อยู่ สั่งปิดทั้งเกาะภูเก็ตแล้ว ขอยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ขณะนี้ ยังไม่มีการปิดเกาะภูเก็ตและยังการดำเนินการตามแผนเดิม นักท่องเที่ยวยังคงเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงขอความร่วมมือประชาชน ไม่ส่งต่อข้อความ เพื่อป้องกันข่าวปลอมหรือข่าว ที่ทำให้เกิดการตื่นตระหนก ซึ่งตอนนี้จังหวัดภูเก็ตได้มีการตรวจคัดกรอง อย่างเคร่งครัด ในส่วนผู้ที่ติดเชื้อทุกรายเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็กักตัวตามมาตรการเช่นกัน "ตั้งแต่มีการเปิดโครงการเมื่อวันที่ 1 ก.ค.64 จนถึงวันนี้เกือบ 2 สัปดาห์ มียอดนักท่องเที่ยวสะสม จำนวน 4,778 คน โดย ททท.ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในช่วง 3 เดือนแรก ของการเปิดภูเก็ต ไว้ที่จำนวน 100,000 คน คาดว่าจะสร้างรายได้ราว 8,900 ล้านบาท" นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ โฆษกสำนักงานประกันสังคม ได้ชี้แจงโครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด (กรุงเทพฯและปริมณฑล) ว่า ตามมาตรการของรัฐตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องหยุดงานตามรัฐสั่ง ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน ถึง 27 กรกฎาคม 2564 ซึ่งสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเหตุสุดวิสัย แก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 50% เป็นเวลา 90 วัน โดยให้นายจ้างรับรองว่าผู้ประกันตนมาตรา 33 มีกี่คน หยุดตั้งแต่เมื่อใด ซึ่งผู้ประกันตนกลุ่มนี้ได้มีการส่งเงินสมทบตามกฎกระทรวง จึงเป็นสิทธิประโยชน์ที่เขาพึงได้รับ สำหรับกรณีเงินเยียวยารัฐบาลที่ช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน 4 ประเภทกิจการ ในเขตพื้นที่ 6 จังหวัด ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงที่ต้องหยุดงานตามคำสั่งรัฐฉบับดังกล่าว โดยนายจ้างจะได้รับเงินเยียวยาเท่ากับจำนวนผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนในสถานประกอบการแต่ให้ได้รับไม่เกิน 200 คน โดยจ่ายในอัตรา 3,000 บาท ต่อผู้ประกันตนหนึ่งคน และผู้ประกันตนสัญชาติไทยจะได้รับเงินเยียวยาในอัตรา 2,000 บาท ต่อคน และได้รับเพียงครั้งเดียว ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาจ่ายเงินให้ตามฐานข้อมูลการหยุดงานที่นายจ้างแจ้งเข้ามาในระบบ แต่หากไม่อยู่ในระบบประกันสังคมจะไม่สามารถตรวจสอบการหยุดงานตามคำสั่ง ศบค. ได้ จึงไม่สามารถจ่ายเงินในส่วนนี้ได้ ทั้งนี้ในส่วนของลูกจ้างที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน นายจ้างก็สามารถขึ้นทะเบียนได้จนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2564หากมีข้อสงสัยโทรสอบถาม สายด่วน 1506