"ณัฏฐ์ชนน" เมินกระแสจี้ "ภท." ถอนตัวร่วมรบ. ยันไม่ตัดช่องน้อยหนีปัญหา ย้ำพรรคพร้อมสู้ศึกซักฟอก ด้าน "ราเมศ" เชื่อยื่นซักฟอก ยึดตามหลักประชาธิปไตย ยัน "ปชป."ขอลุยทำงานเพื่อ ปชช. ส่วน"นิกร" เผย "ส.ส.-ส.ว." ยื่น40คำแปรญัตติแก้รายละเอียดระบบเลือกตั้ง "เพื่อไทย" ซัด "บิ๊กตู่" บริหารงานล้มเหลว เหตุไม่ฟังคำเตือน เชื่อ "รบ.ไปไม่รอด" ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย(ภท.)กล่าวถึงกรณีที่พรรคฝ่ายค้าน เตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า พรรคภูมิใจไทยเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล และพร้อมจะอภิปราย ถึงปัญหาในพื้น ที่ แต่สิ่งที่เราต้องตระหนักมากที่สุดคือ ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลา โหม พยายามแก้ไขปัญหาอยู่ หลายคนถามว่าทำไมพรรคภูมิใจไทย ไม่ถอนตัวและไม่ลาออก หากวันนี้ พรรคภูมิใจไทยถอนตัวจากรัฐบาลก็จะทำให้รัฐบาลยุติการบริหารงาน แต่วันนี้มีสถานการณ์โควิด หากพรรคภูมิใจไทยถอนตัวแล้วรอบหน้าประชาชน คงไม่ให้โอกาสกลับมา เพราะเวลาที่มีปัญหากลับหนีปัญหา หรือตัดช่องน้อยแต่พอตัว ตนคิดว่านายกฯ ก็เช่นกัน ท่านก็คงอึดอัดใจ คิดจะตัดสินใจหลายอย่าง แต่หากกลับมารอบหน้า จะยากมากและแทบจะไม่มีโอกาสได้กลับมา แต่ถ้านายกฯ แก้ปัญหาให้หมดโควิด ไม่ว่าจะดี หรือไม่ดี ตนคิดว่าประชาชน จะตัดสินใจอีกรอบหนึ่ง เมื่อถามว่า การที่จี้ให้ถอนตัว จากพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาใช่ หรือไม่ นายณัฏฐ์ชนน กล่าวว่า เป็นความสะใจของหลายคนที่ถามว่าทำไมไม่ลาออก แต่วันนี้เกิดปัญหาพวกเราเข้ามาแก้ไขปัญหา เมื่อเกิดปัญหาแล้วจะให้พวกตนลาออก เพื่อให้รัฐบาลล้ม แล้วถามว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะการรณรงค์หาเสียงออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งตอนนี้เป็นไปได้ยาก และเป็นการซ้ำเติมปัญหา ดังนั้น หลังสถานการณ์โควิดค่อยมาประเมินกันใหม่ และพวกตนก็จะประเมินตนเอง เมื่อถามว่าตอนนี้มีหลายพรรคการเมือง เช่น พรรคไทยสร้างไทยและพรรคเสรีรวมไทยรวมถึงภาคประชาชนล่ารายชื่อฟ้องนายกฯ บริหารจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ผิดพลาด และเป็นรัฐบาลฆาตกร นายณัฏฐ์ชนนกล่าวว่า เป็นประเด็นทางการเมืองที่เมื่อพรรคเหล่านั้นจะลงสนามเลือกตั้งก็ต้องเปิดประเด็นสิ่งที่เห็นต่าง และคิดว่าประชาชนได้ประโยชน์ แต่กระบวนการทั้งหมดในการดำเนินคดี ถ้าทำได้ก็ต้องไปว่ากันตามช่องทางกฎหมาย แต่จะผิดหรือถูก พวกเราเป็นนักการเมืองก็รู้ ซึ่งสิ่งสำคัญไม่อยากให้นักการเมืองไปซ้ำเติมสถานการณ์ วันนี้ทุกคนสับสนหมด ทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหา เรื่องวัคซีน กระบวนการโรงพยาบาลสนามที่ไม่มีความชัดเจน ดังนั้น เราต้องตั้งสติดีๆ และแก้ไขปัญหาไปทีละอย่าง ส่วน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านจะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า หลักการในการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือหนึ่งในกระบวนการที่สำคัญในการตรวจสอบรัฐบาล เป็นหน้าที่ที่สำคัญของฝ่ายค้าน ตามระบบประชาธิปไตย เชื่อว่าฝ่ายรัฐบาลก็พร้อมชี้แจง รัฐมนตรีคนใดที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจก็มีหน้าที่ต้องชี้แจง ส่วนรัฐมนตรีของพรรค ไม่มีความกังวล เพราะยึดหลักซื่อสัตย์ สุจริต ในการทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งสถานการณ์ขณะนี้ต้องทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ให้สุดความสามารถ มุ่งประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางจะมีรัฐมนตรีคนใดบ้างและยื่นช่วงเวลาใดก็เป็นดุลพินิจของฝ่ายค้าน ไม่สามารถไปก้าวล่วงได้ ส่วน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) แก้ไขมาตรา 83 และ มาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง กล่าวถึงความคืบหน้าของการยื่นคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา ว่า มีทั้งหมด 40 ประเด็น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมและเรียบเรียง ความเหมือน และแตกต่างของแต่ละคำแปรญัตติ ทั้งนี้เชื่อว่าการพิจารณาของกรรมาธิการฯ จะเสร็จตามกำหนดเวลาได้ แม้ว่าจะต้องงดประชุม 1 สัปดาห์ เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 หากมีความจำเป็น สามารถเพิ่มวันประชุมต่อสัปดาห์ได้ จากเดิมที่นัดประชุม 2 วันต่อสัปดาห์ เมื่อถามว่าเนื้อหาของการยื่นคำแปรญัตติของพรรคการเมืองขนาดเล็กต้องการให้แก้ไขการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเปลี่ยนเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ เป็น 0.02% นายนิกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวต้องคำนึงถึงประชาชน ในฐานะผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นสำคัญ รวมถึงความสะดวกของผู้มีสิทธิ์ที่จะออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง หากคำนึงถึงสิ่งที่พรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือ พรรคการเมืองใหญ่ต้องได้เท่ากับว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คำนึงถึงผลประโยชน์ของพรรคการเมืองเท่านั้น อย่างไรก็ดีกรรมาธิการ ต้องพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบและรอบด้าน ซึ่งตนเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่มีปัญหา ขณะที่ นางสาวกิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี กรรมาธิการการปกครอง คณะทำงานการกระจายอำนาจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่ตนได้เคยเตือนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม และในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ให้เปิดใจรับฟังคำแนะนำของกลุ่มคนต่างๆ เพื่อนำมาพิจารณาแก้ไขปรับปรุงการบริหารจัดการ รวมถึงพรรคเพื่อไทยที่เสนอแนะแนวทางแก้ไขมาโดยตลอด แต่พล.อ.ประยุทธ์ กลับไม่เปิดใจรับฟัง ทำตัวเหมือนน้ำเต็มแก้ว แถมยังรวบอำนาจทุกอย่างมาอยู่ที่ตัวเอง แทนที่จะกระจายอำนาจ มีตำแหน่งถึง 57 ตำแหน่ง ทั้งๆ ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ผลที่ออกมาจึงเป็นอย่างที่ปรากฏในปัจจุบันคือบริหารประเทศล้มเหลวแทบทุกระบบ จนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐล้มเหลวไปแล้ว ทิศทางอนาคตก็มีแต่จะมืดมน การระบาดของโควิดจะไม่หยุด คนเจ็บและคนตายจะเพิ่มขึ้นอีกมาก จากการบริหารวัคซีนที่ล้มเหลว แถมยังมีวัคซีนคุณภาพต่ำเป็นวัคซีนหลัก และทั้งที่รู้ว่าวัคซีนด้อยคุณภาพแต่ก็ยังจะดันทุรังซื้อกันอีก จนประชาชนเชื่อกันว่าน่าจะต้องมีการทุจริตแน่ถึงได้ผลักดันขนาดนี้ อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้วก็จะยิ่งย่ำแย่ลงอีก พลเอกประยุทธ์ ไม่มีทางฟื้นเศรษฐกิจได้ ประชาชนจะเจ็บป่วยล้มตายและอดอยาก จากผู้นำที่ขาดความรู้ความสามารถเป็นผู้นำที่พิการทางความคิดอย่างแท้จริง "ดังนั้นความล้มเหลวทุกด้านจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลที่เปรียบเหมือนเรือลำใหญ่กำลังจะอับปางลงในไม่ช้า เพราะมีปัญหาการบริหารที่เปรียบเหมือนสนิมเกาะกิน และมีรูรั่วเต็มไปหมด ไม่มีทางที่จะอุดรูรั่วได้อีกแล้ว ไม่สามารถประคองเรือให้ลอยลำต่อไปได้แล้ว รอวันที่จะจมดิ่งไปเรื่อยๆ เพราะประชาชนเกลียดชัง พล.อ.ประยุทธ์ จะฝืนอยู่ต่อไปเพื่ออะไร ทั้งที่จะมีแต่ความล้มเหลวเพิ่มขึ้น พวกที่อยู่ในเรือไม่ว่าจะเป็น พรรคร่วมรัฐบาล 250 ส.ว. รวมถึง ข้าราชการประจำ ก็ควรจะต้องโดดออกจากเรือได้แล้ว จะยอมจมน้ำตายพร้อมเรือที่ล่มกันหรือพล.อ.ประ ยุทธ์ ต้องสำนึกได้แล้วว่า ตนเองไม่สามารถที่จะบริหารประเทศได้ต่อไปแล้ว รัฐนาวาไปต่อไม่ได้แล้ว รอวันที่จะอับปางเท่านั้น ยิ่งอยู่นานคนยิ่งไล่ กัปตันที่เปรียบเหมือนโจรสลัด แต่ไม่ได้มีความสามารถที่จะนำพารัฐนาวานี้ฝ่าคลื่นโควิดไปได้แล้ว ทุกคนต้องสละเรือแล้ว ยิ่งอยู่ต่อไปทุกคนจะจมน้ำตายกันหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะพาประเทศและประชาชนพลอยจมน้ำไปด้วย"