ข่าวดี ! ไทยวิจัย "ฟาวิพิราเวียร์"ยาต้านโควิด -19 ได้แล้ว พร้อมขึ้นทะเบียนอย.ในเดือนก.ค.นี้"โควิดไทย" พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,685 ราย เสียชีวิต 56ราย "นนทบุรี" พบคลัสเตอร์ใหม่ "คลังห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต" ส่วน"ฮู" สะกิดฉีด "วัคซีนไขว้" เสี่ยงอันตราย-เตือนวัคซีนเข็ม3 ท่ามกลางหลายประเทศยังขาดแคลน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้ติดตามความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ในประเทศ สำหรับใช้ต้านไวรัสโควิด -19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของการขับเคลื่อน ตามแผนยุทธ ศาสตร์ เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circula-Green Economy) ของรัฐบาล
โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รายงานว่า ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ บริษัท ปตท. เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารตั้งต้น (Active Pharmaceutical Ingredients : API) ของการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงพาณิชย์ เพี่อสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศไทย โดยความร่วมมือดังกล่าว มีความคืบหน้าอย่างมาก สามารถสังเคราะห์สารตั้งต้นที่มีความบริสุทธิผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และยังเป็นการสังเคราะห์จากสารตั้งต้นที่มีราคาถูกโดยไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันต้องมีการนำเข้ามากถึงร้อยละ 95
ทั้งนี้ในเดือนก.ค.ทางองค์การเภสัชกรรมคาดว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และจากนั้นจะเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด 19 เข้าถึงยาอย่างเพียงพอ เมื่อทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ประเทศไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในราคาที่ถูกกว่านำเข้าอย่างมาก
นางสาวรัชดา ได้กล่าวเพื่มถึงความร่วมมือระหว่าง สวทช. อภ. และ บริษัท ปตท. ด้วยว่า ครอบคลุมตั้งแต่การทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ (Laboratory scale) การถ่ายทอดเทคโนโลยีจนถึงระดับอุตสาหกรรม (Industrial scale) ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Feasibility Study) ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ จึงถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลความร่วมมือรัฐ-เอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยา ขณะเดียวกันการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 โดยนักวิจัยไทยก็มีความก้าวหน้าไปมากเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงความสามารถทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย ระยะยาวนำไปสู่การลดการนำเข้า และยังเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งบุคคลากรมีทั้งความรู้และนำไปต่อยอดเพื่อการผลิตขายต่อไปด้วย
ขณะที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,685 ราย แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวัง และระบบบริการ 6,026 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,501 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 146 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย
รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 353,712 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 56 ราย รวมเสียชีวิต 2,847 คน
สำหรับ10 อันดับ ผู้ติดเชื้อในประเทศ อันดับ1กทม. 2,631 ราย สมุทรสาคร 561 ราย นนทบุรี 537 ราย สมุทรปราการ 529 ราย ชลบุรี 459 ราย ปทุมธานี 189 ราย นราธิวาส 178 ราย นครปฐม 177 ราย สงขลา 150 ราย อุดรธานี 126 ราย ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังมีการพบคลัสเตอร์ใหม่ คือ สมุทรสาคร พบคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง คือ โรงงานผลิตภัณฑ์จากโลหะ, โรงงานผลิตอุปกรณ์ล็อค นนทบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่ คลังห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต อ.บาง บัวทอง ติดเชื้อแล้ว 312 ราย ปัตตานี พบคลัสเตอร์ใหม่โรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งกระจายไปแล้ว 3 จังหวัดชลบุรี พบคลัสเตอร์ใหม่โรงงานเฟอร์นิเจอร์ อ.บ้านบึง
วันเดียวกัน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุขของอาร์เจนตินา เปิดเผยผลการศึกษาติดตามในโครงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชน โดยระบุว่า วัคซีนขนานซิโนฟาร์ม ซึ่งวิจัยพัฒนาโดยบริษัทซิโนฟาร์ม ประเทศจีน มีประสิทธิภาพป้องกันการเสียชีวิตในผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ในอัตราร้อยละ 84 สำหรับผู้ที่ฉีดครบ 2 โดสตามกำหนดแล้ว จากการติดตามศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 147, 147,908 คน ในระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 22 มิ.ย. 2021 (พ.ศ. 2564) ที่ผ่านมา
ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนจำนวน 1 โดส ทางกระทรวงสาธารณสุขของอาร์เจนตินา เปิดเผยว่า สามารถป้องกันการส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อฉีดแล้วหนึ่งโดสนั้นอยู่ที่ 61.6%
รายงานข่าวแจ้งว่า ทางการอาร์เจนตินา โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติอนุมัติฉุกเฉินให้ใช้วัคซีนขนานซิโนฟาร์ม ตั้งแต่เมื่อเดือน ก.พ. และได้อนุมัติจากจีนแผ่นดินใหญ่ให้ร่วมทำการผลิตวัคซีนขนานนี้ เมื่อเดือน พ.ค.เป็นต้นมา
ทางด้าน คณะกรรมการสุราและกัญชาแห่งรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐฯ ออกแคมเปญ "จอยน์ ฟอร์ แจ็บส์ (Joints for Jabs)" เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมาเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 กันให้มากๆ ด้วยการแจกกัญชาแบบพันลำฟรี ให้แก่ผู้รับการฉีดวัคซีนที่เป็นวัยผู้ใหญ่ อายุ 21 ปีขึ้นไป หากรับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสตามกำหนดแล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ทางรัฐวอชิงตันได้ออกแคมเปญ แจกเบียร์ ไวน์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ฟรี แก่ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 มาแล้ว
ด้าน ดร.โสมยา สวามีนาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ (ฮู) ออกมาเตือนจากกรณีที่ประเทศต่างๆ ออกนโยบายการฉีดวัคซีนแบบผสมผสาน หรือการฉีดไขว้ เพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้แก่ประชาชน โดยระบุว่า เป็นแนวโน้ม หรือเทรนด์ ที่อันตราย เนื่องจากยังมีข้อมูลการวิจัยว่าด้วยการฉีดวัคซีนในลักษณะเช่นนี้น้อยมาก จนไม่อาจทราบได้ว่า จะเกิดผลข้างเคียงแก่ผู้รับการฉีดอย่างไร รวมถึง อาจเกิดความวุ่นวาย หากประชาชนในประเทศนั้นๆ จากการตัดสินใจฉีดวัคซีนเข็มต่อๆ ไป
พร้อมกันนี้ ดร.โสมยา ยังกล่าวเตือนด้วยว่า ประเทศร่ำรวยยังไม่ควรเร่งสั่งจองวัคซีนเพื่อใช้ฉีดเป็นเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในขณะที่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศยากจน ยังคงขาดแคนวัคซีนเข็มแรก
ขณะที่ สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ทั่วโลกยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมจำนวน 188,085,671 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 4,055,949 ราย และผู้ป่วยที่รักษามีจำนวนสะสม 172,024,576 ราย
โดยสหรัฐฯ พบผู้ป่วยติดเชื้อสะสมมากที่สุดในโลกจำนวน 34,766,404 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวน 623,029 ราย มากเป็นอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน และผู้ป่วยที่รักษาหายมีจำนวนสะสม 29,274,349 ราย