"ศบค."เผยไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,656 ราย เสียชีวิตทั้ง 80 ราย อยู่อันดับ 60 ของโลก ขณะที่"กทม."ยังติดเชื้ออันดับ 1 และเสียชีวิตมากสุด ระบุหลายจังหวัดยังคงพบคลัสเตอร์ใหม่เพิ่ม ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง "สธ."แถลงยกเลิกใช้"ซิโนแวค" 2 เข็ม หลัง"กก.ติดต่อแห่งชาติ"มีมติปรับสูตรวัคซีนใหม่ ฉีด"ซิโนแวค+แอสตร้าฯ" พร้อมสั่งการด่วนทุกโรงพยาบาลเริ่มทันที ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,656 ราย โดยแบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 8,583 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 73 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 345,027 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 3,687 ราย สะสม 251,658 ราย กำลังรักษาอยู่ 90,578 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 51,288 ราย และโรงพยาบาลสนาม 39,290 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 2,895 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 747 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย รวมเสียชีวิต 2,791 คน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 8,656 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 6,044 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,515 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 73 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 24 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 80 ราย ชาย 37 ราย หญิง 43 ราย กทม. 44 ราย สมุทรปราการ 6 ราย ปทุมธานี 3 ราย สมุทรสาคร 3 ราย ปัตตานี 5 ราย ยะลา กำปพงเพช จังหวัดละ 2 ราย เชียงราย เพชรบุรี กาญจนบุรี ภูเก็ต นครนายก ชลบุรี พิจิตร สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยาอ่างทอง อุตรดิตถ์ สมุทรสงคราม อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัวยังเป็นปัจจัยเสี่ยงความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อายุค่ากลาง 66 ปี อายุน้อยสุด 30 ปี อายุมากสุด 94 ปี เป็นชาวไทย 79 ราย เมียนมา 1 ราย นอนนานสุด 61 วัน สำหรับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ยังพบผู้ที่หลบหนีเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ มาจากมาเลเซีย 4 ราย เมียนมา 7 ราย ฝั่งแม่สอด จ.ตาก ทั้งนี้ หลายจังหวัดที่เหลือยังคงพบการติดเชื้อเพิ่มเติมในคลัสเตอร์เดิม ที่พบต่อเนื่อง อย่างคลัสเตอร์มัรกัส ยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มต่อเนื่อง ถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่เล็ก ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ผ่านการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก ว่า จากการมีมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 จึงมีการแถลงข่าวแบบออนไลน์ โดยสถานการณ์โควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร(กทม). และปริมณฑล ยังน่าเป็นห่วง ยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง จากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และแพร่กระจายไปยังจังหวัด ซึ่งขณะนี้พบผู้ติดเชื้อประมาณ 1 หมื่นรายกว่าวัน หรือประมาณ 1 แสนกว่ารายใน 2 สัปดาห์นี้ ส่งผลให้การอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น จึงต้องมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ นายอนุทิน กล่าวว่า มาตรการยาแรงที่ดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด คือ ห้ามมีการรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน ปิดสถานที่เสี่ยง จำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล ให้มีการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ของเอกชนและรัฐมากที่สุด และมีการปรับแผนฉีดวัคซีน ระดมฉีดให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และตั้งเป้าฉีดวัคซีนอายุ 60 ปีขึ้นไปให้ได้ 1 ล้านคนใน 2 สัปดาห์นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดรุนแรงใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 12 ล้านโดส แต่กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังยังฉีดให้กลุ่มนี้น้อย ไม่ครบตามที่ตั้งเป้า จึงต้องเร่งฉีดให้มากที่สุดและโดยเร็วที่สุด นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีการพิจารณาประเด็นการควบคุมโรคโควิด 4 ประเด็น 1.เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า โดยโรงพยาบาล(รพ.) ต่างๆ สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสียสละดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง 2.ที่ประชุมรับทราบการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์ โดส(Booster dose) โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 4 สัปดาห์แล้ว จึงจะดำเนินการฉีดกระตุ้นบูสเตอร์โดส ได้ทันที เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูง และเร็วที่สุดกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และจากการกลายพันธุ์จากอัลฟ่า มาเป็นเดลต้า จึงยิ่งมีความจำเป็นต้องฉีดกระตุ้น "การบูสเตอร์ โดส จะเป็นแอสตร้าฯ เป็นหลัก เพราะมีข้อมูลทางวิชาการว่า การให้วัคซีนกระตุ้นคนละชนิดจะเป็นผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคล เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 มากขึ้น" นยอนุทิน กล่าว นายอนุทิน กล่าวอีกว่า 3.ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางในการใช้ชุดตรวจ แรพิด แอนติเจน เทสต์ ในสถานพยาบาล ลดการไปรอคิวนานจากการรอตรวจ RT-PCR ซึ่งใช้เวลานาน โดยชุดตรวจแรพิด แอนติเจน เทสต์ มาใช้นั้น ต้องมีการผ่านการรับรอง และขึ้นทะเบียนกับ อย. ปัจจุบันมีผู้มาขึ้นทะเบียน 24 ราย โดยจะอนุญาตให้ตรวจมาตรฐานในสถานพยาบาลกว่า 300 แห่ง ซึ่ง และเร็วๆนี้จะอนุญาตให้ตรวจได้เองในประชาชนที่บ้าน ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด 4.เห็นชอบแนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และแยกกักในชุมชนชน (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถแยกกักที่บ้าน หรือในส่วนของชุมชนนั้น ก็จะเป็นการแยกกักในบ้านที่อยู่ในชุมชนจำนวนมาก ทั้งหมดจะมีระบบติดตาม มีเครื่องมือวัดออกซิเจนในกระแสเลือด มียา โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)มีแนวทางและจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยทุกราย ซึ่งสปสช.จะร่วมมือกับรพ.ที่เป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องนี้ "นอกจากนี้ ยังรับทราบเรื่องหน่วยบริการปฐมภูมิ ในพื้นที่กทม. เพื่อเข้าดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน ทั้งทางกายและจิตใจ หรือผู้ป่วยที่กลับมาจากรพ.แล้ว และจะมีชุดคัดกรองแรพิด แอนติเจน เทสไปให้บริการถึงชุมชนถึงบ้านที่ตัวเองอยู่ แต่เรื่องที่ยังต้องปฏิบัติคือ การดูแลป้องกันโรค สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน ทั้งในบ้าน และนอกบ้าน ลดการเดินทาง ตามแนวทางที่ศบค.กำหนดไว้ ซึ่งเรามั่นใจว่าจากมาตรการและความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคนจะลดจำนวนผู้ป่วยโควิดได้" นายอนุทิน กล่าว ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงมติข้อที่ 1 ถึงการฉีดวัคซีนสลับชนิดด้วยซิโนแวค เป็นเข็มที่ 1 และแอสตร้าฯ เป็นเข็มที่ 2 ว่า การฉีดวัคซีนสลับชนิด เข็มที่ 1 เป็น ซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าฯ จะดำเนินการฉีดในประชาชนทั่วไป จากนี้ไปจะเราจะไม่มีการฉีดวัคซีนเข็ม 1 เข็ม 2 เป็นซิโนแวค บวกซิโนแวคอีก ทั้งนี้จากข้อมูล การฉีดเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าฯ นั้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเกือบเท่ากับการฉีด แอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ข้อดี คือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มสูงได้ในเวลาเร็วกว่า