นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยถึงกรณีที่ คุณไชยวัฒน์ วรรณโคตร เลขานุการและอนุกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการศึกษาสถานการณ์ด้านแรงงานสวัสดิการ คุ้มครองแรงงาน และแรงงานสัมพันธ์ เขียนบทความ เรียบเรียงข้อมูลการชดเชยแรงงานจากคำสั่งปิดแคมป์คนงาน โดย ระบุว่าปิดแคมป์คนงาน 14 วัน เกือบ 7 แสนคน ยังไม่ได้รับชดเชยเยียวยาและไม่ได้ดูแลเรื่องอาหารให้กับคนงานนั้น ในเรื่องนี้นั้น ขอชี้แจงว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมได้จ่ายเงินเยียวยาสุดวิสัยโควิด -19 ร้อยละ 50 ของค่าจ้างให้ลูกจ้าง 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ 1) กิจการก่อสร้าง 2) กิจการที่พักแรม บริการด้านอาหาร 3) กิจการศิลปะความบันเทิงนันทนาการ และ 4) กิจการอื่น ๆ ไม่ใช่กิจการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว และขณะนี้ สำนักงานประกันสังคมได้วินิจฉัยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้น 17,920 ราย เป็นจำนวนเงิน 87,631,033.80 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.ค.64) โดยแยกเป็น กิจการก่อสร้าง 16,468 ราย เป็นเงิน 79,801,420.45 บาท ที่เหลือเป็นกิจการร้านอาหาร และภัตตาคาร 1,452 ราย เป็นเงิน 7,829,613.35 บาท ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะตัดจ่ายทุกวันศุกร์ และนำจ่ายเงินให้ลูกจ้างทุกวันจันทร์ โดยคนงานในกิจการก่อสร้างจ่ายเป็นเงินสด ส่วนกิจการอื่น ๆ ที่เหลือจะโอนเงินเข้าบัญชีลูกจ้างโดยตรง
กรณีลูกจ้างที่ยังไม่ได้เงิน สำนักงานประกันสังคมขอให้เร่งดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้นายจ้างรับรองในระบบ e-service ว่ามีลูกจ้างกี่ราย หยุดงานตั้งแต่วันไหนถึงวันไหน 2) ลูกจ้างยื่นแบบ สปส. 2 - 01/7 ให้แก่นายจ้างส่งต่อให้สำนักงานประกันสังคม เพื่อที่จะให้ประกันสังคมพิจารณาวินิจฉัยจ่ายเงินโดยเร็วต่อไป
ส่วนเรื่องอาหารในแคมป์คนงานก่อสร้างนั้น กระทรวงแรงงาน ได้ขอความร่วมมือนายจ้างสถานประกอบการดูแลเรื่องอาหารแก่คนงานทั้ง 3 มื้อ โดยกระทรวงแรงงานจะสนับสนุนเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร น้ำดื่ม ไข่ไก่ ปลากระป๋อง ที่ได้รับบริจาคจากภาคเอกชน และนำไปมอบให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นศูนย์กลางในการกระจายอาหารไปยังคนงานตามแคมป์ต่างๆ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นมาตรการเสริมที่กระทรวงแรงงานขอความร่วมมือนายจ้างสถานประกอบการ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายด้านอาหารให้แก่คนงานอีกทางหนึ่ง