"วิป3 ฝ่าย"สรุปงดประชุมสภาฯ 2 สัปดาห์ เลี่ยงวิกฤตโควิด แต่ยังให้"กมธ.งบฯ65 -กมธ.แก้ รธน."ถกผ่านระบบซูม พร้อมเช็กไทม์ไลน์"ส.ส.ก้าวไกล"ติดโควิด ด้าน"สว."นั่งประชุมเพียง 20 นาที ก่อนสั่งปิดประชุมกลับบ้านหวั่นโควิดระบาด ขณะที่"ฝ่ายค้าน"ยังเดินหน้าเตรียมข้อมูลซักฟอกเชือดรัฐบาล "ภูมิธรรม"เผยวิปฝ่ายค้านเคาะยื่นซักฟอกแบบลงมติ-ดึงประชาชนเป็นเจ้าภาพร่วม ชวนส่งข้อมูลการบริหารโควิดล้มเหลว ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 12 ก.ค.64 นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล พร้อมด้วย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงข่าวถึงผลการประชุมวิป 3 ฝ่าย ที่มีนายชวนหลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในการประชุมโดยมีผู้แทนจากทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและวุฒิสภาเข้าร่วมในการประชุม โดย นายวิรัช กล่าวว่า ที่ประชุมนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้สั่งให้งดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 2 สัปดาห์ และให้มีการประชุมใน 29 - 30 ก.ค.นี้ นอกจากนั้นที่ประชุมยังเห็นชอบให้งดการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญ คณะกรรมาธิการวิสามัญทุกคณะ ยกเว้นแต่คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม นายวิรัช ยังกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ว่า จากนี้การพิจารณางบประมาณจะใช้วิธีการประชุมโดยระบบ Zoom 100% สำหรับหน่วยงานที่อยู่ต่างจังหวัด เช่น การชี้แจงงบประมาณในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฎ และสำหรับการประชุมงบประมาณฯที่สภานั้นจะอนุญาตให้หัวหน้าหน่วยงานเข้าร่วมชี้แจงในห้องประชุมกรรมาธิการเท่านั้น โดยทีมงานและผู้ติดตามจะให้ไปรับฟังการประชุมที่ห้องประชุมออนไลน์ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงปัญหาสถานการณ์โควิด ที่มีส.ส.คนหนึ่งติดเชื้อโควิด โดยมีอภิปรายอย่างกว้างขวาง และตรวจสอบไทม์ไลน์ของส.ส.ดังกล่าว เพื่อพิจารณาว่าใครบ้างที่คิดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพื่อทำการเร่งรัดตรวจสอบโดยด่วน ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวเสริมว่า มติในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายว่าเป็นไปตามข้อเสนอของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่แจ้งผ่านวิป 3 ฝ่ายเพื่อทราบ และปฏิบัติตามข้อกำหนดของ ศบค.ข้อที่ 12 สำหรับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมฝ่ายค้านเองจะขอเสนอให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อ แต่เมื่อรับฟังเหตุผลแล้วก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประธานสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมจึงยินดีให้ความร่วมมือในการงดประชุม อย่างไรก็ตามเมื่อจบ 14 วันแล้ว หากสถานการณ์ไม่เบาลงจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งจะใช้วิธีในการงดประชุมต่อไปเรื่อยๆไม่ได้ ดังนั้นระหว่างการงดประชุม 14 วันนี้จะต้องคิดและเตรียมมาตรการให้พร้อมที่สุดเพื่อรับมือกับโควิด-19 เพื่อให้เราอยู่กับโควิดให้ได้แม้มันจะรุนแรง อย่างไรก็ตามสำหรับการยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจการงดประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่สามารถที่จะมาเปลี่ยนใจฝ่ายค้านได้ ดังนั้นการเตรียมการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะต้องดำเนินต่อไป และเมื่อฝ่ายค้านได้ข้อสรุปแล้วก็จะต้องยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และสภาเปิดเมื่อไหร่ก็จะต้องเปิดอภิปราย ถึงแม้สภาจะปิดในเรื่องของการถ่วงดุล และการตรวจสอบรัฐบาล ฝ่ายค้านก็ยังจะต้องทำงานต่อไปโดยปกติ ซึ่งเมื่อฝ่ายค้านสรุปข้อมูลพร้อมแล้วคาดว่าจะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ไม่เกินเดือนกลางเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่ การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญเพียงแค่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมาการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จำนวน 15 คน จากนั้นพิจารณาอนุมัติการขยายเวลาการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อีก 3 ฉบับได้แก่ ร่าง พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่?) พ.ศ. ? ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่?) พ.ศ? และร่าง พ.ร.บ.หอการค้าไทย (ฉบับที่?) พ.ศ. ? ก่อนที่จะอนุมัติการขยายเวลาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ออกไป 30 วัน จากเดิมจะครบกำหนดในวันที่ 22 กรกฎาคม และการขยายเวลาการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ออกไปอีก 30 วัน จากเดิมที่จะครบกำหนดวันที่ 19 สิงหาคม 2564 จากนั้น นายพรเพชร แจ้งต่อที่ประชุมว่า หมดวาระการประชุม และสั่งปิดประชุมทันทีในเวลา 10.20 น. โดยใช้เวลาประชุมแค่ 20 นาที ถือเป็นการประชุมวุฒิสภาที่สั้นที่สุด เพื่อเป็นไปตามมติวิปวุฒิสภา ที่ให้ประชุมเฉพาะเรื่องสำคัญและเร่งด่วน และปฏิบัติตามมาตรการเข้มงวดของ ศบค.ในการยับยั้งการระบาดของโควิด วันเดียวกัน ที่พรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้จัดการประชุมระบบซูมเพื่อหารือสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติ 1.สถานการณ์ประเทศในปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤตขั้นสูงสุด ประชาชนกำลังล้มตายประเทศกำลังเสียหายยับเยิน จากการระบาดของโควิด-19 โดยทั้งหมดเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดและล้มเหลวของรัฐบาล จนไม่อาจปล่อยให้สถานการณ์ย่ำแย่มากไปกว่านี้ได้ 2.พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าเพื่อความรอบคอบ และความครบถ้วนของประเด็นการอภิปราย รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงเห็นสมควรเชิญประชาชนร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ในการร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยเสนอให้ประชาชนเข้าร่วมโดยส่งข้อมูลความผิดพลาด ล้มเหลว รวมถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นมายังพรรคร่วมฝ่ายค้าน "การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจร่วมกันระหว่างประชาชน ข้าราชการ และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ในการหยุดยั้งรัฐบาลที่ล้มเหลว" 3.ในระหว่างที่ไม่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคร่วมฝ่ายค้านจะได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน โดยจะนำเสนอท่าทีและความเห็นต่อสถานการณ์ประเทศต่อไป โดยจะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 19 กรกฎาคม เวลา 10.00 น. ส่วนรูปแบบการประชุมนั้นจะเป็นไปตามกฎหมายกำหนด และ 4.หลังจากสภาเปิดให้มีการร่วมประชุมได้จะได้แจ้งความคืบหน้าให้ทราบอีกครั้ง ที่พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ได้ประกาศคำสั่งยกระดับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 กำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมนั้น ตนเองมีความห่วงใยประชาชน ที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพปชร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉินสถานการณ์โควิด 19 (ศปฉ.พปชร.) ดำเนินการจัดตั้งโครงการ "ข้าวล้านกล่อง" ขึ้นมา เพื่อนำไปมอบให้ประชาชนในชุมชนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน โดยให้เริ่มจากวันนี้เป็นต้นไป ส่วนทางด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศปฉ.พปชร. ได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลประทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งในด้านการลดค่าครองชีพโดยการจัดถุงยังชีพ เพื่อแจกจ่ายให้ครอบคลุมในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว จึงพร้อมดำเนินการตามดำริ ของพล.อ. ประวิตร ภายใต้การประสานงานของศูนย์ประสานงานพรรคในพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้ หากประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งความประสงค์มาที่ ศปฉ.พปชร. ผ่านสายด่วน Call Center 02-939-1111 จำนวน 30 คู่สาย หรือ Inbox มาในเพจ Facebook ของพรรคได้ที่ https://www.facebook.com/PPRPThailand/ ซึ่งทางพรรค พร้อมดำเนินการช่วยเหลือต่อไป ขณะที่ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) และโฆษก บช.น.เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองเมื่อวันที่ 9-11 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 3 กลุ่ม จำนวนประมาณ 70 ราย ในความผิดตามกฎหมายหลายฉบับ "การชุมนุมดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.บ.จราจร, พ.ร.บ.ความสะอาด, พ.ร.บ.การใช้เครื่องกระจายเสียง ซึ่งมีผู้กระทำความผิดราว 70 ราย บช.น.ได้เรียกประชุมพนักงานสืบสวนสอบสวนทุกพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำชับให้ดำเนินการโดยเด็ดขาดและรวดเร็ว" พล.ต.ต.ปิยะ กล่าว ผู้ชุมนุมทั้ง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มอาชีวะปกป้องประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 2.กลุ่มไทยไม่ทน นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ และ 3.กลุ่มคาร์ม็อบ นำโดยนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ส่วนการกระทำความผิดในกรณีการยุยงปลุกปั่น การเชิญชวนให้เข้าร่วมการชุมนุม และการบิดเบือนข้อมูลนั้น ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จะมีการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีอีกทางหนึ่งด้วย ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า สตช. ได้รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมตั้งแต่กลางปี 63 มาแล้วหลายคดี และในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รุนแรง ผบ.ตร.มีความเป็นห่วงจึงได้กำชับให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยนำหลักรัฐศาสตร์มาใช้ควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในภายหลัง "หากมีการชุมนุมก็จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แม้ไม่ได้บังคับใช้กฎหมายทันทีในขณะนั้น แต่จะรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีในภายหลัง ในสถานการณืนี้หากมีการชุมนุมอีกก็จะมีการดำเนินคดีในลักษณะนี้ต่อไป" พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าว