"รบ."เดินหน้า 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน หวังลดภาระประชาชน ส่วน "ซูเปอร์โพล" เผย คนกทม. "ทุกข์ใจ" โควิด-19 ทำเงินในกระเป๋าหาย
เมื่อวันที่ 11 ก.ค.64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จัน ทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม ห่วงใยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่เรื้อรังมายาวนาน และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชน และยิ่งทำให้ปัญหานี้ท้าทายมากขึ้น ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบเบ็ดเสร็จ รัฐบาลจึงเดินหน้าใน 3 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย (1) การให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน (2) การกำกับดูแลเจ้าหนี้ให้ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (3) การปรับโครงสร้างหนี้และการไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สิน
โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้กำหนดมาตราการระยะสั้นและระยะยาวในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมาตรการระยะสั้นที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน อาทิ การลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน การแก้ไขการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และดอกเบี้ยในช่วงพักชำระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม การทบทวนเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนเป็นต้น
"การแก้ไขปัญหาหนี้ในครั้งนี้ แตกต่างจากการแก้ไขหนี้ในครั้งก่อนๆ ซึ่งที่ผ่านมาจะมุ่งเน้นการปรับโครง สร้างหนี้และเน้นที่ลูกหนี้แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ครั้งนี้จะให้ความสำคัญเรื่องการกำกับดูแลให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่ออย่างเป็นธรรม และยังเป็นการแก้ไขหนี้สินทั้งระบบ ไม่ใช่เป็นการแก้เฉพาะหนี้เสีย"
ด้าน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง"ทุกข์ของคนไทย ใครช่วยได้"พบ ว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.4 ทุกข์ใจเงินรายได้ที่หายไปและการตกงาน ร้อยละ 66.3 ระบุ วัคซีนโควิด-19 ไม่พอ และ ร้อยละ 61.8 ความยากจนจากหนี้สินนอกระบบ อย่างไรก็ตาม เมื่อแบ่งออกเป็นความทุกข์ จำแนกระหว่าง ชาย และ หญิง พบว่า ร้อยละ 69.3 ของผู้หญิง เทียบกับผู้ชาย ร้อยละ 65.4 กำลังทุกข์ใจ กับเงินรายได้ในที่หดหาย คนตกงาน แต่ในเรื่องวัคซีนโควิด-19 ไม่พอ พบว่า ร้อยละ 67.0 ของผู้ชาย เทียบกับร้อยละ 65.7 ของผู้หญิง นอกจากนี้ ร้อยละ 64.0 ของผู้หญิงเทียบกับร้อยละ 59.3 ของผู้ชาย กำลังทุกข์ใจเรื่องความยากจน หนี้สินนอกระบบ