เมื่อ​วันที่ 11 ก.ค. นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย มีฝนตกกระจายตัวค่อนข้างดี และบางพื้นที่มีฝนตกหนัก เนื่องด้วยปัจจัยทางธรรมชาติที่ส่งเสริมให้มีการเกิดฝนหรือเกิดเมฆตามธรรมชาติในระดับค่อนข้างดี รวมถึงร่องฝนหรือร่องมรสุมที่พาดผ่านพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกนั้น ก็จะส่งผลให้ในเรื่องของการเกิดฝนตกค่อนข้างที่จะกระจายตัวได้ดี ประกอบกับในขณะนี้มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ได้พัดพานำความชื้นจากฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เข้ามายังประเทศไทย ทำให้หลายๆ พื้นที่มีฝนตกและตกหนักในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในช่วงนี้จะเกิดฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ยังคงมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังคงมีความต้องการน้ำและแจ้งขอรับบริการฝนหลวงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากว่าฝนที่ตกยังมีปริมาณไม่เพียงพอ และบางพื้นที่ก็มีฝนตกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดย จากข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง (10 ก.ค.64) พบว่า จำนวนรวม 816 แห่ง ครอบคลุม 53 จังหวัด 408 อำเภอ ซึ่งพื้นที่ที่มีการขอรับบริการฝนหลวงมากที่สุด ได้แก่ ภาตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน 327 แห่ง ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก ในการสนับสนุนอากาศยานและบุคลากร ยังคงมีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 13 หน่วยปฏิบัติการ กระจายตัวอยู่ทั่วภูมิภาค เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้มีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกในฤดูกาลนี้ต่อไป โดยจากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวานนี้ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 6 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของจ.พะเยา พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ สระบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท อุทัยธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักให้กับพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนจำนวน 3 แห่ง และ อ่างเก็บน้ำจำนวน 5 แห่ง ​ นายปนิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเช้าวันนี้ ผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาร์ฝนหลวงทั่วประเทศ พบว่า มี บริเวณพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเงื่อนไขปฏิบัติการฝนหลวงในเช้าวันนี้ จึงมีการวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการจำนวน 2 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ดังนี้ - หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.อุบลราชธานี มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ และจ.ศรีสะเกษ - หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ มีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร จ.ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ และจ.สุรินทร์ ​​อย่างไรก็ตาม สำหรับ 11 หน่วยปฏิบัติการ จะติดตามสภาพอากาศตลอดทั้งวัน หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงและเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง จะขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เป้าหมายทันที โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุราษฎร์ธานี และจ.สงขลา ไม่มีการปฏิบัติการ เนื่องจากเครื่องบินกองทัพอากาศตรวจซ่อมพิเศษประจำสัปดาห์ ทั้งนี้ พี่น้องเกษตรกรและประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ที่ช่องทาง Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร Twitter Instagram Line Official Account : @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-109-5100