วันที่ 11 ก.ค.64 นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ระบุว่า *เสียสละเงินเดือน -ผมเข้าใจความรู้สึกของประชาชนที่กดดันให้รัฐมนตรีสละเงินเดือน เพื่อช่วยเหลือประชาชน ตอนเป็นส.ส.เวลาบ้านเมืองเกิดภัยธรรมชาติประธานสภาก็เคยมีหนังสือเวียนให้เราบริจาคเงินเดือน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราบริจาค หรือ สละหมดทั้งเดือน เราสละบางส่วน ผมว่า เรื่องนี้ รมต. หรือ ส.ส. คงไม่มีใครกล้าออกมาคัดค้าน เพราะหากค้าน จะโดนด่าเละแน่ -ทำไมประชาชนกดดันให้นักการเมืองสละเงินเดือน ความรู้สึกรวมๆน่าจะมาจากสาเหตุ อย่างน้อย 2 ประการ 1.ประชาชนเห็นว่า นักการเมือง ทำงานไม่คุ้มค่าเงินเดือน 2.ประชาชนเห็นว่า นักการเมืองเป็นคนของเขา เขาเลือกมาเอง เขาจึงมีสิทธิแสดงความเห็นกับนักการเมืองของเขาได้ -แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจ"ให้ถึงแก่น" คือ ประเทศนี้ มีเงินเหลือเฟือที่จะช่วยเหลือ และ เยียวยาประชาชน หากให้นักการเมืองสละเงินเดือน 3 เดือน เงินเหล่านั้นน่าจะเปรียบเทียบได้เท่ากับ เม็ดทราย 1 เม็ด ในรถสิบล้อ 1 คัน น้อยจนไม่สามารถทำอะไรได้เลย แต่เอาเถอะ หากต้องการให้นักการเมืองห่วงหาอาทรประชาชนในยามนี้ นักการเมืองก็ควรเสียสละบ้างตามสมควร อันนี้ ผมเห็นด้วย -อีกเรื่องหนึ่ง ที่ประชาชนอาจมองไม่เห็นคือ นักการเมืองไม่ได้ร่ำรวยทุกคน หลายคนก็ยากจน ใช้เงินเดือนนี่แหละออกเยี่ยมเยียนประชาชน ภาพนักการเมืองซื้อเสียงตอนเลือกตั้ง อาจทำให้ประชาชนเห็นว่านักการเมืองทุกคนร่ำรวย เหมือนปลาเน่าตัวเดียวในข้องก็ทำให้ปลาตัวอื่นพลอยเน่าเหม็นไปด้วย หากเราเอาเงินมาเป็นตัววัดประสิทธิภาพของนักการเมือง เราไม่มีโอกาสเห็นลูกหลานชาวบ้านคนจนๆ เข้าไปเป็นนักการเมืองได้เลย -ไม่ว่า เราจะรังเกียจนักการเมืองอย่างไร ในทางปรัชญาทางการเมืองถือว่า "นักการเมืองเป็นความเลวร้ายที่จำเป็นต้องมี" อย่างไรเสียเราก็ต้องอยู่กับนักการเมือง ไม่มีทางที่จะหนีนักการเมืองไปได้ การเรียกร้องให้นักการเมืองเสียสละเงินเดือน จึงน่าจะเป็นการสะท้อนว่านักการเมืองทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และ ไม่คุ้มค่าเงินเดือน ผมเขียนเรื่องนี้ มิได้ปกป้องนักการเมือง และผมไม่ได้เป็นนักการเมืองแล้วไม่มีความจำเป็นต้องปกป้องใคร หากจะด่าผม หรือ เอาทัวร์มาลง ก็ขอให้ด่าในฐานะผมเป็นประชาชนคนหนึ่ง"