กลุ่ม Maybank Kim Eng จัดงานสัมมนา Invest ASEAN 2021 อย่างต่อเนื่อง และครั้งนี้มาในหัวข้อเด่น Is ASEAN Tourism Dead? โดย Benito C. Bengzon Jr.,Undersecretary for Tourism Development,Department of Tourism,Philppines, Markland Blaiklock, Deputy CEO,Central Plaza Hotel Group และ Tim Hughes, Vice President, Corporate Development, Agoda ดำเนินรายการโดย Ong Seng Yeow, Regional Head, Research Technology & Innovation, Maybank Kim Eng ด้วยการนำเสนอผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ ทีมวิจัย บมจ.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ได้สรุปสาระสำคัญของงานสัมมนา Invest ASEAN 2021 ในหัวข้อ Is ASEAN Tourism Dead? ไว้ดังนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอาเซียนจะกลับไปสู่ระดับ Pre-covid ได้อย่างรวดเร็วในปี 2023-2024 ท่ามกลางปัจจัยที่ไม่แน่นอนอีกมาก ทั้งจากโควิดกลายพันธุ์และการกระจายวัคซีนที่ล่าช้า ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัคซีนคือหัวใจหลักของการฟื้นตัวจากวิกฤตรอบนี้ แต่อาเซียนทำได้รั้งท้ายเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ทำให้คาดจะเห็นการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจกลับมาช้ากว่า โดยทั่วโลกมีตัวเลขการฉีดวัคซีน (Dose) ต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ 25%, สหรัฐฯ 55%,ยุโรป 43%,เอเชีย 25% ขณะที่อาเซียนอยู่ที่เพียง 22% ทั้งนี้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังมีอยู่ จาก Pent-up demand ที่รอการกลับมาเที่ยว โดยข้อมูลจาก SiteMinder’s World Hotel Index จะเห็นยอด Booking activity หรือการมาติดต่อจองห้องพัก ช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทุกครั้งที่มีสัญญาณการจะเปิดประเทศ ตัวอย่างเช่น ในมัลดีฟส์ที่มียอดติดต่อการจองกลับมาสูงกว่าระดับก่อนเกิด โควิด-19 เรียบร้อยแล้ว หรือ ในสหรัฐและสเปนที่ยอดติดต่อการจองอยู่ที่ระดับ 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า Pent-up demand ความต้องการท่องเที่ยวที่อัดอั้นไว้จากสถาการณ์แพร่ระบาดของ โควิด-19 นั้นมี และจะกลับมาอย่างรวดเร็วหลังการเปิดประเทศ ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยแม้ปัจจุบันมียอด Booking activity เพียง 13% จากปัญหาโควิด-19 ในประเทศ แต่ยังสามารถคาดหวังการกลับมาอย่างแข็งแกร่งในระยะกลาง-ยาวได้ โดยจากข้อมูลของ Skyscanner พบว่ากรุงเทพฯยังติดท็อป 11 อันดับที่ต่างชาติค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2021 และ จากข้อมูลของ Agoda ที่พบปี 2021 ประเทศไทยยังเป็นตัวเลือกแรกๆของนักท่องเที่ยวจีน และ ไต้หวัน สะท้อนให้เห็นถึงประเทศไทยยังมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง และเป็นจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ หากสถานการณ์การท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้น สามารถคาดหวัง Pent-up demand ได้เช่นเดียวกัน สำหรับภาพอุตสาหกรรมหลังโควิด-19 มองว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายใหญ่ ประเมินได้จาก 1) ความได้เปรียบด้านสายป่านที่ยาว และ สภาพคล่องที่สูงกว่า สามารถผ่านวิกฤตได้ไม่ยาก ต่างจากคู่แข่งขนาดกลาง-เล็กที่ส่วนใหญ่จะล้มหายตายจาก ทำให้เมื่อการท่องเที่ยวกลับมา ผู้เล่นรายใหญ่จะได้อานิสงส์จากการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่น้อยลง 2)แนวโน้มนักท่องเที่ยวหลังโควิดจะยอมจ่ายแพงเพื่อความสะอาดและสุขอนามัยที่ดีกว่า (Hygiene) เป็น New Normal ทำให้โรงแรมระดับบน(4-5ดาว) มีโอกาสเป็นกลุ่มเป้าหมายของนักท่องเที่ยวมากขึ้น