"ชวน"เมินงดประชุมสภาฯ ลุยเดินหน้าต่อ ชี้มีกฎหมายสำคัญโดยเฉพาะร่าง พรบ.งบประมาณ ปี 65 รอพิจารณาให้ทันกรอบการประชุม พร้อมสั่งเข้ม"สื่อ-สส.-จนท."สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันทุกครั้ง พบอีก จนท.ทำเนียบฯติดเชื้อโควิด ด้าน"กมธ.แก้รธน." จ่อเคาะอำนาจแก้ไข รธน. 13 ก.ค.นี้ หวั่นพรรคใหญ่สอดไส้แก้ไขเกินหลักการ แนะถอนร่างไปทำให้สมบูรณ์ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 8 ก.ค.64 นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อเสนอให้ล็อกดาวน์สภาผู้แทนราษฎร ว่า ขณะนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องประชุมตามปกติ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะมีกฎหมายสำคัญ โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ซึ่งอยู่ในชั้นกรรมาธิการ และมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการ อีก 10 คณะ เพื่อเร่งประชุมให้ทันกรอบเวลา โดยเมื่อวันที่ 7 ก.ค. ได้รับแจ้งว่ามีคนมารอชี้แจงจำนวนมาก จึงได้ไปตรวจสอบด้วยตัวเอง พบว่ามีคนมายืนรอชี้แจงหน้าห้องจำนวนมากจริง จึงได้กำชับไปยังเลขาธิการสภาฯ ให้ติดตามเรื่องนี้ คุมเข้ม และระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่หาก ศบค. ประกาศล็อคดาวน์กรุงเทพฯ ค่อยพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ได้ย้ำให้ทุกคนในสภาฯ ระมัดระวังเป็นพิเศษเช่นกัน รวมถึงสื่อมวลชน แม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบแล้วก็ตาม ขอให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันทุกครั้ง เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ถือเป็นการช่วยบุคลากรทางการแพทย์อีกทางหนึ่งขณะที่การประชุมร่วมรัฐสภาก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องประชุมอย่างน้อย 1 ครั้ง เนื่องจากมีร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดที่ยังค้างอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาประชุมไม่เกิน 1 วัน ซึ่งรัฐบาลได้ประสานเร่งรัดมา ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล ซึ่งปฎิบัติหน้าที่ประจำประตู 5 ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ เป็นช่องทางเข้า-ออกหลัก สำหรับผู้ที่จะเข้ามาติดต่อราชการ ติดเชื้อโควิด-19 อีก 1 คน และได้เข้ารับการรักษาตามขั้นตอนแล้ว ซึ่งได้กักตัวเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิดแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคนดังกล่าว ไม่ได้พักอาศัยอยู่ภายในทำเนียบรัฐบาล แต่อาศัยอยู่บริเวณชุมชุน ซอยพิษณุโลก 1 ซึ่งมีการระบาดไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังพบเจ้าหน้าที่ตำรวจติดเชื้อ ทำเนียบรัฐบาลได้ทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณอาคารต่างๆ รวมถึงห้องปฏิบัติงานสื่อมวลชนด้วย วันเดียวกัน นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ?. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะกมธ.ฯ โดยนายธีรัจชัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากการประชุมคณะกมธ.ฯ เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการหยิบยกประเด็นว่าร่างแก้ไขของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านการรับหลักการของรัฐสภา จะสามารถแก้ไขมาตราอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุในหลักการของร่างพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ เนื่องจากในหลักการระบุไว้เพียงแก้ไขมาตรา 83 และ 91 ซึ่งแตกต่างจากร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุในหลักการชัดเจนว่า แก้ไขระบบเลือกตั้ง แต่พรรคประชาธิปัตย์ระบุเพียง 2 มาตรา โดยที่ไม่ได้บอกว่าแก้ไขระบบเลือกตั้ง ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าวทำให้กมธ.มีความเห็นแตกต่างกัน บางส่วนบอกว่าสามารถแก้ไขมาตราอื่นได้ โดยเฉพาะประธานคณะกมธ.ฯ ที่เห็นว่าสามารถทำได้ แต่กมธ.บางส่วน โดยเฉพาะเสียงของพรรคฝ่ายค้าน ยืนยันว่า การแก้ไขจะต้องไม่ขัดต่อหลักการ เราจึงเห็นว่า ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุแก้ไขเพียง 2 มาตรา ไม่ได้เป็นการแก้ระบบเลือกตั้งทั้งระบบ ร่างของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นร่างที่ไม่สมบูรณ์ หากดึงดันให้ผ่านไปโดยไปแก้มาตราอื่นๆด้วย จะเป็นสิ่งที่ฝืนในหลักการกฎหมาย อาจจะเป็นการดันทุรังเพื่อให้ร่างนี้ผ่านไป "การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นการแก้ไขกติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่ใช่แก้เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น แต่พรรคการเมืองขนาดเล็ก และขนาดกลาง ไม่ได้ประโยชน์เลย การกระทำที่ดันทุรังจะขัดกฎหมาย ขัดความรู้สึกประชาชน เราเห็นว่าไม่ควรทำ ถ้าจะทำควรให้รัฐสภาตัดสิน หรือถอนเรื่องนี้ไปทำให้สมบูรณ์ ไม่ควรแก้ระบบเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ควรแก้ทั้งฉบับ" นายธีรัจชัย กล่าว ด้านนายรังสิมันต์ กล่าวว่า ร่างแก้ไขของพรรคประชาธิปัตย์เป็นร่างที่มีปัญหา และอาจจะนำไปสู่การที่รัฐสภาพยายามสอดไส้แก้ไขเพื่อบิดเบือนต่อหลักการ ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ถ้าเราปล่อยให้เกิดกระบวนการในการสอดไส้แบบนี้ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่อันตราย เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่จะเป็นรากฐานของการเมืองระบบรัฐสภา ที่เราจะสามารถพิจารณากฎหมายในรูปแบบไหนก็ได้ นอกจากไม่แก้ปัญหาเรากำลังจะทำลายรากฐาน และอำนาจรัฐสภา ด้วยการสอดไส้โดยพรรคการเมืองใหญ่โดยที่ไม่สนใจว่าประชาชนจะต้องการหรือไม่ด้วยซ้ำ ดังนั้น ใครก็ตามที่อยู่ในกมธ.ชุดนี้ พวกท่านเป็นนักการเมืองหลายสมัย หลายคนได้รับการยอมรับจากประชาชน อย่าทำลายหลักการรัฐสภาในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หากจะยังพิจารณาก็ยังมีหนทางที่คุยกันได้ แต่ต้องไม่ใช่การสอดไส้ตามอำเภอใจที่ตัวเองปรารถนา และในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ที่ประชุมคณะกมธ.ฯ จะมีการตัดสินว่าสุดท้ายขอบเขตของข้อบังคับการประชมรัฐสภาข้อ 124 ที่ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเกินหลักการจะเป็นอย่างไร สมมติกมธ.เห็นว่าแก้ไขอย่างไรก็ได้ พรรคก้าวไกลคงไม่สามารถยอมรับกระบวนการแบบนี้ได้