เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่รัฐสภา ตัวแทนของกลุ่มภาคีองค์กรภาคประชาชน นำโดยนายสุริชัย หวันแก้ว ผอ.ศูนย์ศึกษาสันติภาพ และความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์ ยื่นหนังสือต่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ขอให้การแก้ไขปัญหาสถานการณ์เมียนมาในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาลี้ภัยจากการรัฐประหาร และการสู้รบในประเทศเมียนมา นายสุริชัย กล่าวว่า เข้าเดือนสู่ที่ 5 ของการรัฐประหารเมียนมาแล้ว มีผู้ได้รับผลกระทบ และผลัดถิ่นจำนวนมาก หลังจากเกิดเหตุรัฐประหารประเทศเมียนมาร์ ช่วงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา มีประมาณ 7 พันคน ข้ามมาฝั่งไทย แต่อยู่อาศัยได้ประมาณ 2-3 วัน ก็ถูกผลักดันให้กลับถิ่นฐาน ระยะอยู่นานที่สุด ประมาณ 1 อาทิตย์ แต่ก็ถูกผลักดันกลับประเทศเมียนมา โดยฝ่ายความมั่นคงของไทย ซึ่งให้เหตุผลว่า สถานการณ์ที่ประเทศเมียนมาสงบลงแล้ว ทั้งนี้ ทางภาคีองค์กรภาคประชาชนมีข้อเสนอแนะในการให้ความช่วยเหลือ คือ 1.รัฐไทยต้องยึดมั่นและดำเนินการตามหลักการ ไม่ผลักดันกลับ 2.รัฐจะต้องไม่ปิดกั้น และควรต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้ผลัดถิ่น 3.รัฐไทยต้องรับรองคณะทำงานเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการ สู้รบชายแดนไทย-เมียนมา 4.รัฐไทยต้องไม่ปฎิเสธการขอเข้าลี้ภัยโดยอ้างเหตุผลการแพร่ระบาดโควิด 5.รัฐไทยควรอนุญาตให้สิทธิอาศัยชั่วคราวแก่ผู้ลี้ภัย โดยมีมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 6.ในกรณีมีการจับกุมและดำเนินคดี ควรให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงทนายความ 7.ผู้ลี้ภัยประเทศเมียนมา ควรสามารถเข้าถึงกลไกการคัดกรอง และมีสิทธิยื่นคำร้อง เพื่อรับสถานะ “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” 8.ในสถานการณ์โควิด-19 ขอให้มีมาตราการดูแล และ 9.รัฐไทยควรดำเนินการช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางด้วยความสมัครใจ มีความพร้อมและปลอดภัย ด้านนายพิธา กล่าวว่า ในนโยบายต่างประเทศ จะต้องไม่ผลักดันมนุษย์ด้วยกันกลับไปสู่สถานที่ที่ยังมีสงครามเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องยึดให้มั่นในนโยบายต่างประเทศ และที่ผ่านมาทางรัฐบาลไทยมีการส่ง นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม เข้าร่วมเวทีผู้นำอาเซียน ที่อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา และมีการรับฉันทามติเบื้องต้น 5 ประการ ซึ่งต้องเรียนถามไปยัง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ว่า มีความคืบหน้าในการผลักดันฉันทามติ 5 ประการไปถึงไหนแล้ว เพราะความไม่สงบของเมียนมามีความสำคัญต่ออาเซียนเป็นอย่างมาก “สิ่งที่ผมพอจะทำได้ คือ ในช่วงนี้มีการพิจารณางบประมาณ 65 ผมจึงได้แสดงความคิดเห็นว่า สถานการณ์ไม่สงบในเมียนมาลงทุนไปอย่างไรก็คงเสียหายจึงคิดว่า ควรจัดงบประมาณส่วนหนึ่งสำหรับช่วยเหลือประเทศ เมียนมา” นายพิธา กล่าว