นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช.) เผยว่า ที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2564 ได้มีมติรับทราบผลการดำเนินการตามกระบวนการคัดเลือกและวันจัดการประมูลสำหรับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่สำนักงาน กสทช. ได้เปิดให้ผู้สนใจเข้ามายื่นเอกสารหลักฐานเพื่อเข้าร่วมการคัดเลือกฯ ในวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยมีบริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด เข้ามายื่นเอกสารเข้าร่วมการคัดเลือกเพียงรายเดียว ดังนั้นเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วม และก่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรมในการประมูล ประกอบกับได้พิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันแล้ว ที่ประชุม กสทช. จึงได้มีมติเห็นชอบกำหนดการใหม่สำหรับการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ดังนี้ วันที่ 8 ก.ค.- 6 ส.ค. 2564 : เปิดให้มีการรับเอกสารการคัดเลือกเพิ่มเติม ,วันที่ 9 ส.ค. 2564 : จัดการประชุมสัมมนาเพื่อชี้แจงกระบวนการประมูลและกรอกแบบคำขอรับอนุญาต (public information session) ,วันที่ 11 ส.ค. 2564 : ผู้ประสงค์ขอรับอนุญาตยื่นคำขอรับอนุญาตและวางหลักประกันการขอรับอนุญาต ,วันที่ 18 ส.ค. 2564 : ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการคัดเลือก ,วันที่ 24 ส.ค. 2564 : ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกที่ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถด้านการเงิน เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมการประมูล ,วันที่ 25 ส.ค. 2564 : จัดการประชุมสัมมนาเพื่อชี้แจงขั้นตอนการประมูล (bidder information session) และการประมูลรอบสาธิต (mock auction) และวันที่ 28 ส.ค. 2564 : วันประมูล
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องการจัดการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ที่ กสทช. จัดขึ้นนั้น สำนักงาน กสทช. ขอเรียนชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ดังนี้ 1. การจัดการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) นั้น กสทช. มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และการพิจารณาอนุญาตดังกล่าว ตามมาตรา 27 (14/1) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีหน้าที่ที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
2. การจัดประมูลในครั้งนี้ กสทช. ได้เริ่มดำเนินการตามหน้าที่ที่กำหนดตามกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. 2562 และได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาโดยตลอด เนื่องจากประเทศไทยมีความจำเป็นที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งในการรักษาสิทธิดังกล่าว เราจำเป็นต้องมีการใช้งานบนดาวเทียมจริง เพราะหากประเทศไทยถูก ITU ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ได้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่ได้รับจริงภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ หรือไม่ได้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง (ไม่มีการใช้คลื่นความถี่บนดาวเทียมจริง) ย่อมมีโอกาสเกิดความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกยกเลิกสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมและคลื่นความถี่ที่ไม่มีการใช้งานจริง ออกจากทะเบียนความถี่หลักระหว่างประเทศได้ (Master International Frequency Register) และส่งผลให้ประเทศไทยสิ้นสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมนั้น
3. สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของข่ายงานดาวเทียมที่ กสทช. นำมาประมูลในครั้งนี้ เป็นสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของข่ายงานดาวเทียมที่ยังไม่มีผู้รับอนุญาตใช้งาน รวมทั้งสิทธิที่การอนุญาตเดิมกำลังจะสิ้นสุดลงในอนาคตอันใกล้ นำมาดำเนินการจัดสรรพร้อมกัน โดยไม่ได้รอนสิทธิในการบริหารทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง ดีอีเอส) แต่อย่างใด
4. สำหรับการจัดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ในครั้งนี้ กสทช. มีหน้าที่ตามกฎหมาย เนื่องจากในระหว่างการสรรหา กสทช. ชุดใหม่ ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 บัญญัติให้ กสทช. ที่ดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
"ด้วยเงื่อนเวลา และข้อจำกัดต่างๆ แต่ กสทช. ก็ยังคงดำเนินการจัดการประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ในครั้งนี้ ด้วยความมุ่งหวังที่จะส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมในการประกอบกิจการดาวเทียม ตลอดจนจัดสรรสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่สะท้อนมูลค่าทรัพยากรที่มีอยู่ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนโดยคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐ และความเป็นไปได้ทั้งในทางเทคนิคและทางธุรกิจ"