ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ ทศวรรษ 1960 เกิดปรากฏการณ์กระแสไหลบ่าของวงร็อคจากอังกฤษ หรือที่เรียกว่า British Invasion โดยการนำของ เดอะ บีเทิ่ลส์, เดอะ โรลลิง สโตนส์, เดอะ ฮู, เดอะ ฮอลลีส์ ฯลฯ ไม่เพียงแต่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก วงการดนตรียังถูกพลิกโฉมด้วยแนวดนตรีและรูปลักษณ์ใหม่ ในอังกฤษเอง บางทีก็เรียกช่วงกลางทศวรรษ 1960 นี้ว่า British Beat แต่ไม่ได้หมายความว่า วงดนตรีอังกฤษในกระแสนี้จะประสบความสำเร็จไปเสียทุกวง วงดนตรีอย่าง ดิ แอนิมอลส์, เดอะ คิงค์ส หรือ เดอะ พริตตี้ ธิงส์ อาจจะมีผลงานโด่งดังติดอันดับ ขณะที่ยังรักษาแนวเนื้อหาที่จริงจังเอาไว้ได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายวงที่ไม่เคยประสบความสำเร็จกว้างขวางไปทั่วโลก และบางวงเพิ่งได้รับการพูดถึงมากขึ้นหลังจากที่เวลาผ่านไปกว่า 50 ปี หนึ่งในพวกหลังนี้ ต้องรวม เดอะ ซอร์โรว์ส เอาไว้ด้วย เดอะ ซอร์โรว์ส ก่อตั้งในเมืองโคเวนทรีเมื่อปี 1963 โดย ฟิลิป “ปิ๊ป” วิทเชอร์ – กีตาร์นำ, เทอร์รี จูคส์ – กีตาร์ริธึ่ม และ ฟิลิป แพ็คแฮม – เบสส์, บรูซ ฟินเลย์ - กลอง และ ดอน ฟาร์ดอน - นักร้องนำ เริ่มสร้างชื่อในแวดวงคลับบาร์ และข้ามไปเล่นที่เยอรมนีคล้ายอีกหลายวงจากอังกฤษที่กำลังเริ่มต้น รวมถึง เดอะ บีเทิลส์ เดอะ ซอร์โรว์ส บันทึกเสียงเพลงไว้ชุดหนึ่งกับโปรดิวเซอร์ โจ มีค แต่ก็ไม่ได้ออกวางขาย จนกระทั่งวงแตกไปแล้วหลายทศวรรษถึงได้ออกมา แต่พวกเขาก็โชคดี หลังล้มเหลวในการทำงานกับ โจ มีค ก็ได้เซ็นสัญญากับ พิคคาเดลลี เรคอร์ดส์ ออกซิงเกิ้ลแรก "I Don't Wanna Be Free"/"Come with Me" (เพลงหลังคือหน้า B) ในเดือนมกราคมปี 1965 ยอดขายไม่ดีนัก แต่วงได้ออกรายการโทรทัศน์และออกแสดงสดมากขึ้น ช่วงนี้ จูคส์ ขอลาออกไปแต่งงานและหาอาชีพที่มั่นคง วงได้ เวสลีย์ ไพรซ์ มาแทน "Baby"/"Teenage Letter" ซิงเกิ้ลที่ 2 ของ เดอะ ซอร์โรว์ส ยอดขายยังน่าผิดหวังเหมือนเดิม แต่ซิงเกิ้ลที่ 3 - "Take a Heart"/"We Should Get Along Fine" ที่ออกในเดือนสิงหาคม 1965 กลายเป็นเพลงฮิทติดอันดับ ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปิดอย่างต่อเนื่องของสถานีวิทยุใต้ดิน หรือที่เรียกว่า pirate radio "Take a Heart"/"We Should Get Along Fine" ไม่ได้ติดถึงท็อป 10 ด้วยซ้ำ ติดสูงสุดอยู่ที่อันดับ 20 ของตารางซิงเกิ้ลในอังกฤษ แต่นั่นก็มากที่สุดแล้วสำหรับ เดอะ ซอร์โรว์ส เดือนตุลาคมปีเดียวกัน พวกเขาออกอีก 2 ซิงเกิ้ล และได้ออกอัลบั้มเต็มชุดแรกตั้งชื่อว่า Take a Heart แต่ทั้งหมดนี้ไม่ประสบความสำเร็จเอาเลย ทำให้ แพ็กแฮม มือเบส และ ฟาร์ดอน นักร้องนำ ตัดสินใจออกจากวง ขณะที่คนที่เหลือยังสู้ต่อ โดยได้ โรเจอร์ โลมาส เข้ามาเสริม เดอะ ซอร์โรว์ส เปลี่ยนแผนใหม่ นำอัลบั้ม Take a Heart มาอัดเสียงเป็นภาษาเยอรมนัและอิตาลี ปรากฏว่ากลายเป็นผลงานที่ได้รับความนิยมในอิตาลี พวกเขาจึงไปปักหลักและทัวร์ในประเทศนั้นระหว่าง 1966-1967 นอกจากได้ทำเพลงประกอบหนัง Come Imparai Ad Amare Le Donne ที่นำแสดงโดย อนิตา เอ็คเบิร์ก พวกเขายังได้ปรากฏตัวในหนังวัยรุ่น Ragazzi Di Bandiera Gialla แต่ช่วงหอมหวานก็สั้นเหลือเกิน เดอะ ซอร์โรว์ส ไม่มีอะไรที่ใกล้เคียงกับความสำเร็จหลังจากนั้น มีการเปลี่ยนตัวสมาชิกกันอุตลุด พวกเขาพยายามออกอัลบั้มอีกครั้งในปี 1969 ชื่อ Old Songs New Songs บันทึกเสียงในอิตาลี และในที่สุด หลังจากทัวร์ตามคลับในยุโรป เดอะ ซอร์โรว์ส ก็ยุบวงอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 1970 ดอน ฟาร์ดอน รวบรวมนักดนตรีใหม่ๆกลับมาทัวร์ในนาม เดอะ ซอร์โรว์ส อีกครั้งระหว่างปี 2011-2013 ซึ่งก็คงไม่มีอะไรมากไปกว่าเล่นตามคลับสำหรับผู้นิยมเพลงเก่าในอังกฤษ, อิตาลี และเยอรมนี เคยมีการจะนำผลงานของ เดอะ ซอร์โรว์ส กลับมาออก 2 ครั้ง จากบริษัทที่ทำสารคดีเกี่ยวกับ British Beat ในทศวรรษ 1960 แต่ล่าสุด Pink, Purple, Yellow & Red: The Complete Sorrows น่าจะเป็นการรวบรวมผลงานของ เดอะ ซอร์โรว์ส ได้ครบเครื่องที่สุด อัลบั้ม 2 ชุดแรก, ซิงเกิ้ลทั้งหมดที่ออกมา, ผลงานที่บันทึกเสียงไว้แต่ไม่เคยออกมาก่อน, เดโม และการแสดงสด รวมทั้งหมด 4 แผ่น บรรจุอยู่ในบ็อกซ์-เซต เดอะ ซอร์โรว์ส เป็นวงร็อคที่มีอารมณ์หม่นและมีสำเนียงริธึ่ม แอนด์ บลูส์ค่อนข้างเข้ม ผสมกลิ่นอายไซคีเดลิค ตอนหลังๆ นักฟังที่นิยมความแตกต่างเริ่มถามหาผลงานของพวกเขามากขึ้น แต่ถ้าให้เลือก สมาชิกของ เดอะ ซอร์โรว์ส ก็คงเลือกที่จะประสบความสำเร็จในวันที่พวกเขายังหนุ่มแน่นมากกว่า และบางทีหากย้อนเวลาได้ พวกเขาอาจจะไม่ตั้งชื่อวงแบบนี้