ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต
“โลกแห่งวันพรุ่งนี้ จะเป็นและต้องเป็นโลกที่ยืนอยู่บนพื้นฐานแห่งอหิงสธรรม นี่เป็นกฎเกณฑ์ลำดับแรกและจากกฏเกณฑ์นี้ ความอยู่เย็นเป็นสุขก็จะตามมา ปัจเจกบุคคล กลุ่มชน อีกทั้งประเทศชาติทั้งหลาย จะต้องยึดหลักอหิงสธรรม อันได้แก่วิถีทางแห่งความรักและเมตตาปราณี หากเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าโลกแห่งวันพรุ่งจะมีความไม่ขาดแคลน จะเป็นโลกที่ปราศจากสงคราม ปราศจากการปฏิวัติ และการนองเลือด ความเจริญก้าวหน้าจะต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธี”
นี่คือ ‘วาทกรรม’ อันลึกซึ้งแห่งความคิดอันเป็นกุศลของ “มหาตมา คานธี” ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอินเดีย...เป็นคำสอนที่ทรงอิทธิพลต่อโลก เป็นรอยทางแห่งความคิดด้านสันติสุขที่อยู่เหนือจิตใจคนอินเดีย จนส่งผลถึงการผนึกกำลังกันต่อสู้และกอบกู้เอกราชของชาติคืนมาจากอังกฤษ
การต่อสู้ในแบบ ‘สัตยาเคราะห์’ ของคานธี ที่ตั้งอยู่บนหลักของการ ‘ต่อสู้แบบดื้อแพ่งโดยไม่ได้ใช้กำลังปะทะกับฝ่ายตรงข้าม’ อันมีที่มาที่ไปทางภาษาจากคำว่า ‘สัตยะ’ อันหมายถึง ‘ความจริง’ ผนวกเข้ากับคำว่า... ‘อาครห’ อันหมายถึง “การเรียกร้อง” กลายเป็นทางออกของโลกในวิถีคิดของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก โดยมีข้อตระหนักว่า “อหิงสธรรมและสันติวิธี” ตามแนวทางการต่อสู้ข้างต้นของคานธี คือแบบอย่างอันทรงคุณค่าที่จะ “เดินตามรอย” ทั้งด้วยความคิดและมิติของการปฏิบัติ ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงความหวังที่จะทำให้โลกปลอดพ้นจากความรุนแรง ดำรงอยู่ด้วยความรักและสุขสงบ เหมือนเช่นบุคคลสำคัญของโลกอย่าง ‘มาติน ลูเธอร์ คิง’ ก็ดำเนินชีวิตและอุดมการณ์ของตน ‘ตามรอยคานธี’ และได้ผลลัพธ์ตอบสนองเป็นรางวัล ทั้งต่อโลก ประเทศชาติ และชีวิตส่วนตนด้วยความหมายที่ล้ำค่ายิ่งในเชิงศรัทธา “ที่ใดมีศรัทธา.. ที่นั่นย่อมไม่สิ้นความหวัง”
“ตามรอยคานธี” [In The Footsteps Of Gandhi] หนังสือที่เป็นผลรวมของบทสนทนาในเชิงสัมภาษณ์ “นักกิจกรรมผู้เยียวยาสังคม” ที่มีชื่อเสียงดังก้องโลก ซึ่งอยู่ในสถานะและหน้าที่อันแตกต่างกันที่ล้วนต่างก็ยึดถือ และมุ่งตามรอยคำสอนของ“คานธี”อย่างจริงจังและพินิจพิเคราะห์ โดยมี ‘แคทเธอรีน อิงแกรม’ เป็นผู้สัมภาษณ์ ‘ไกรวรรณ สีดาฟอง’ และ ‘อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา’ ... นักแปลผู้เปี่ยมประสบการณ์และหยั่งลึกในทางจิตวิญญาณร่วมกันแปลและถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างเข้าใจและหนักแน่นไปด้วยสารัตถะอันสมบูรณ์
โดยส่วนตัว ‘แคทเธอรีน อิงแกรม’ ศึกษาปรัชญาตะวันออกมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ทั้งยังเจริญวิปัสสนาแนวทางพุทธนับแต่ปีค.ศ.1974 “ดังนั้นความเชื่อเรื่องกรรมจึงฝังรากอยู่ในตัวฉัน ฉันเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนเป็นไปตามกฎเกณฑ์ชีวิตอันเที่ยงตรงยุติธรรม…ว่าเหตุปัจจัยคือคำอธิบายที่สมเหตุผลว่าทำไมบางคนถึงต้องทนทุกข์มากกว่าอีกคน ความเชื่อนี้เป็นประโยชน์แก่ความคิดของฉันเสมอมา”
หลังจากนั้นด้วยจุดเริ่มต้นชองวิชาชีพสื่อมวลชน...เธอได้ออกเสาะหาและสัมภาษณ์ครูทางจิตวิญญาณ นักกิจกรรมทางสังคม และนักปฏิบัติผู้มีสภาวะตื่นรู้และมุ่งมั่นอุทิศตนเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากในโลก โดยมีมิติทางจิตวิญญาณและการทำกิจกรรมทางสังคมเป็นหัวใจสำคัญ...เธอเชื่อว่าการพบปะสัมภาษณ์ รวมถึงการตระหนักรู้ที่เพิ่มพูนขึ้นในตัวทำให้ “ฉันเห็นว่าการทำเป็นไม่รับรู้ต่อความทุกข์ยากจะไม่มีวันนำเราไปสู่ความสุขได้” เหตุนี้สิ่งที่เธอได้พบจากการได้เข้าไปพูดคุยสัมภาษณ์ จึงเป็นข้อตระหนักในการเรียนรู้ที่จะทำเพื่อผู้อื่นอันเป็นรากฐานของการช่วยเหลือเยียวยาบาดแผลในหัวใจของเราที่สำคัญ...เป็นต้นเหตุที่ทำให้เราเบิกบานอย่างล้ำลึกท่ามกลางความเจ็บปวด อีกทั้งยังชัดเจนขึ้นด้วยว่ามิติทางจิตวิญญาณและการกระทำที่กอปรด้วยเมตตามิอาจแยกออกจากกันได้...นั่นหมายถึงว่าปัญญาไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยขาดความกรุณา และความกรุณาก็เรียกร้องให้เราต้องรู้จักเผื่อแผ่ไปถึงผู้อื่น...
“ตลอดชีวิตการทำงานของฉัน ชื่อของ ‘โมหัสทาส ก.คานธี’ ได้ผ่านเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า...คานธีคือผู้แผ้วถางทางแห่งชัยชนะเพื่อสัจธรรม ผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของท่านคือ การปฏิวัติที่ปราศจากความรุนแรงที่เรียกว่าการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพของอินเดีย...ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ยุคใหม่...เหตุจูงใจและวิสัยทัศน์อันกระจ่างชัดของบุรุษเพียงคนเดียวนี้ ได้กลายเป็นประทีปนำทางแก่ผู้มาทีหลังมากมาย ไม่ว่าความพยายามของพวกเขาจะสัมฤทธิผลหรือไม่ก็ตาม”
นั่นคืออุบัติการณ์แห่งการเดินตามรอยทางแห่งอุดมคติในวิถีแห่งการต่อสู้ของ “มหาตมา คานธี” ซึ่งทำให้โลก ณ วันนี้...ปรากฏให้เห็นถึง...พลังแห่งความจริงและอหิงสธรรมว่ามันมีพลังและเกิดขึ้นอย่างมากมายเกินต้านทาน...มันสื่อให้เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและน่าทึ่งอย่างแพร่กระจายบนเวทีโลก...ดังเช่น กลุ่มประเทศมหาอำนาจซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศัตรูกันได้หันมาจับมือแก้ปัญหากันอย่างสันติและลดการสะสมอาวุธ การทุบทำลายกำแพงเบอร์ลินเพื่อไม่ให้เกิดสัญญะแห่งความขัดแย้งและแบ่งแยกด้วยมิจฉาทิฐิกันอีกต่อไป รวมทั้งภาวะวิกฤติแห่งการทำสงครามทั้งในตะวันออกกลางและแอฟริกาใต้ ก็ได้รับการแก้ไขอย่างประนีประนอม...คำกล่าวของผู้เดินตามรอยคานธีอย่าง ‘มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์’ จึงดูน่าเชื่อถือ...และศักดิ์สิทธิ์ขึ้น “ผมรู้เพียงว่าจะมีแต่ช่วงที่ฟ้ามืดมิดเท่านั้น คุณจึงจะมองเห็นแสงดาว” ประเด็นตรงนี้ “แคทเธอรีน อิงแกรม” ในฐานะผู้เขียนหนังสือเล่มนี้... ในฐานะผู้สัมภาษณ์ “ชายหญิงนับสิบๆคน” อันล้วนเป็น “วีรบุรุษและวีรสตรี” ของโลกส่วนหนึ่งที่เธอให้ความชื่นชม...ด้วยว่า...พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีอุดมคติซึ่งเป็นสิ่งที่โลกใบนี้ต้องการมากที่สุด “ถ้อยคำของพวกเขาคือเครื่องเตือนใจว่า สิ่งที่เราเลือกทำ ณ ตรงนี้ เวลานี้คือตัวกำหนดอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น”
“องค์ ทะไล ลามะ” องค์ปัจจุบันได้กล่าวไว้ในทำนองว่า “...ทะไล ลามะ ในชาตินี้...เป็นชีวิตที่ยากลำบากที่สุดในบรรดาทะไล ลามะ ทุกองค์...แต่ศาสนาที่แท้จริงของอาตมาคือความกรุณา”...นั่นคือคำกล่าวของบุคคลที่ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘ศานติบุรุษ’…ทะไล ลามะ องค์ที่สิบสี่ ผู้มีชีวิตติดอยู่ในบ่วงแห่งวังวนของการต่อสู้เพื่อ ‘ทิเบต’ อันเป็นชาติแผ่นดินของตนด้วยการยึดถือหลักแห่งสันติในท่าทีของผู้รื่นรมย์ที่ยังทันโลกทันเหตุการณ์อยู่เสมอ... “ปราศจากสันติสุขภายใน...ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีสันติภาพสำหรับโลก” ซึ่งก็สอดรับกับประเด็นแห่งคำสอนของ ‘มหาตมา คานธี’ ที่เน้นย้ำถึงว่า “ ตราบใดที่ขาดแสงสว่างภายใน ตราบนั้นเราจะทำสิ่งใดให้ถูกต้องหาได้ไม่...” สภาวะภายในของคานธี จึงถือเป็นเบ้าหลอมแห่งแก่นรากสำคัญในความเป็นศรัทธาภายใต้เงื่อนไขของการกระทำอันดีงาม...มนุษย์มีทั้งสติปัญญาและเสียงภายในที่ล้ำเลิศกว่าสติปัญญาแต่ทั้งสองสิ่งนี้ก็มีความจำเป็นอยู่ในขอบเขตของมัน “นี่เป็นมิติแห่งคำสอนที่เรียบง่ายต่อความเข้าใจในเชิงปฏิบัติของคานธี” ซึ่งส่งอิทธิพลต่อ ‘ทะไล ลามะ’ นอกเหนือจากประเด็นหลักการของการไม่ใช้ความรุนแรง “ความเรียบง่ายของเขา การดำเนินชีวิตของเขา” โดยเฉพาะการทดลองความจริงอันถือเป็นการแสดงวิวัฒนาการครั้งสำคัญในการสร้างจิตสำนึกทางการเมือง... “ในสังคมมนุษย์ ในชุมชนมนุษย์ อาตมาคิดว่าความจริงเป็นสิ่งสำคัญมาก ในตอนต้นและกลางของศตวรรษนี้ อาตมาคิดว่าผู้คนจำนวนมากอาจสับสน หรืออาจสูญเสียความเชื่อต่อความจริง เพราะถ้าเรามีอำนาจและเงิน บางครั้งความจริงก็ถูกมองไปว่าไม่มีค่านัก แต่ตอนนี้เราได้เห็นวิธีคิดเช่นนั้นกำลังเปลี่ยนไป...แม้แต่ชาติมหาอำนาจที่มีทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เริ่มมองเห็นว่าไม่มีเหตุผลที่จะละเลยคุณค่าพื้นฐานของมนุษย์...ศตวรรษที่20 ที่เรากำลังใช้ชีวิตอยู่นี้ เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากสำหรับโลก...โลกนี้คือบ้านของเรา ถ้าปราศจากโลกนี้เราก็อยู่ไม่ได้ มีการแข่งขันครั้งใหญ่ระหว่างสันติภาพโ ลก กับสงครามโลก ระหว่างพลังของจิตนิยมกับพลังของวัตถุนิยม...ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการเบ็ดเสร็จ...และตอนนี้ภายในศตวรรษนี้พลังของสันติภาพกำลังได้เปรียบ”
‘แคทเธอรีน อิงแกรม’ ได้อ้างถึงคำกล่าวของ ‘มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์’ ที่ได้ตอกย้ำว่า “ไม่มีคำโกหกใดจะคงอยู่ได้ตลอดไป”…เกี่ยวเนื่องถึงสภาวการณ์ของดินแดน ‘ทิเบต’ อันน่าขมขื่นซึ่ง “ทะไล ลามะ” ก็ได้แสดงทรรศนะเป็นเครื่องยืนยันที่น่ารับฟังว่า... “เจตนารมณ์และความจริงคือสิ่งเดียวที่เรามีในการต่อสู้กับจีน แม้เขาจะล้างสมอง แม้เขาจะใช้ความเหี้ยมโหดและโฆษณาชวนเชื่อนานัปการ แต่ความจริงก็ยังคงเป็นความจริง...ฝ่ายเราไม่มีโฆษณาชวนเชื่อ...ไม่มีเงิน ไม่มีอะไรเลยนอกจากเสียงอันแผ่วเบาอ่อนล้า แต่ตอนนี้คนส่วนใหญ่ก็หมดความเชื่อถือในพลังเสียงของจีน...พลังเสียงของเขาหมดความน่าเชื่อถือ...เสียงเล็กๆของเรามีความน่าเชื่อถือมากกว่า...ประวัติศาสตร์ของศตวรรษนี้กำลังยืนยันการไม่ใช้ความรุนแรงที่ มหาตมา คานธีพูดถึง...อันหมายถึง ‘อหิงสา’...การไม่ทำร้ายต่อกันและกันซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิญาณที่ยิ่งใหญ่ของการฝึกฝนทางด้านศีลธรรม... “อหิงสา มีอยู่ ณ ที่ใดโดยสมบูรณ์ ณ ที่นั้นความไม่เคียดแค้นชิงชังก็ย่อมมีอยู่โดยสมบูรณ์เช่นเดียวกัน”…สาธุคุณ ‘เดสมอนด์ ตูตู’ สังฆาธิการผิวดำองค์แรกของนิกาย แองกลิคัน ในแอฟริกาใต้ ผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพเมื่อปี ค.ศ. 1984 ...ด้วยการเรียกร้องให้นักบวชทุกหนทุกแห่ง ต่อต้านการกดขี่ความอยุติธรรม การฉ้อราษฎร์ บังหลวงและความเลวร้ายทุกหนทุกแห่งที่พบ “นี่อาจถือได้ว่าเป็นเสียงเรียกแห่งการสละชีวิตเพื่อศาสนา แต่ถ้าพระเจ้าทรงอยู่ข้างเรา ใครจะขัดขวางเราได้” ท่านได้ตอบบทสัมภาษณ์ของแคทเธอรีน เกี่ยวกับความรู้สึกผูกพันและแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก ‘คานธี’ ด้วยเหตุที่ว่าแอฟริกาใต้เป็นสถานที่ในการทำสงครามกับความอยุติธรรมในยุคแรกสุดแห่งชีวิตของบุคคลทั้งสองซึ่งน่าจะมีอะไรเชื่อมโยงถึงกันได้ ... “ฉันรู้สึกอึดอัดมากเมื่อถูกนำไปเปรียบเทียบกับบุคคลผู้ยิ่งใหญ่อย่างคานธี แต่ใช่! เราส่วนใหญ่ที่ทำงานในแอฟริกาใต้ได้รับอิทธิพลจากเขาและสิ่งที่เขาทำทั้งในแอฟริกาใต้และอินเดีย...เป็นความจริงที่ความสำเร็จของคานธีเป็นแรงบันดาลใจอย่างมากแก่เรา แต่ฉันมีทฤษฎีว่า การไม่ใช้ความรุนแรงต้องมีมาตรฐานทางศีลธรรม อย่างน้อยที่สุดซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้เล่นทุกคนในเกม ฉันคิดว่าคานธีก็เคยกล่าวว่า...ถ้าเขาปฏิบัติการในเยอรมันยุคนาซี เขาก็ไม่แน่ใจว่าวิธีนี้จะประสบความสำเร็จ...วิธีของคานธีประสบความสำเร็จในอินเดียก็เพราะอังกฤษอยู่ภายใต้แรงกดดันทางศีลธรรม...ฉันไม่รู้ว่านี่เป็นทฤษฎีที่ถูกต้องหรือเปล่า...แต่ฉันมีความคิดอย่างนี้”
ทรรศนะอันหยั่งเห็นของ ‘สาธุคุณ เดสมอนด์ ตูตู’...แสดงถึงมิติเชิงเปรียบเทียบในการเดินตามรอยวิถีแห่งคานธี ที่มีบริบททางสังคมและศีลธรรมแปลกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขของกาลเวลา พระเจ้าในความคิดของ เดสมอนด์ ตูตู จึงมีลักษณะที่ “เหมือนบุคคลผู้ซึ่งอยู่ข้างความยุติธรรม ผู้ซึ่งฟัง เห็น กระทำและมีจุดประสงค์ให้กับทุกสิ่งทุกอย่างและทุกชีวิต” แต่ในส่วนของคานธี จะมองพระเจ้าว่า “ทรงเป็นเอกะ พระองค์ไม่ทรงแปรเปลี่ยน ไม่ทรงรูปร่าง เราเป็นกระจกเงาสะท้อนพระองค์ท่าน ถ้าเราซื่อตรงและบริสุทธิ์ พระองค์ก็จะปรากฏเช่นกันในตัวเรา แต่ถ้าเราคดโกงและโสมม พระองค์ท่านก็จะทรงปรากฏว่าคดโกงและโสมมเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องมีชีวิตที่บริสุทธิ์และสะอาดในทุกวิถีทาง”…นั่นคือความหมายสำคัญ...ที่ทั้งสองท่านต่างยึดถือและเชื่อมโยงถึงกันด้วยนัยภายใน...แห่งศรัทธาในความเป็นชีวิตต่อพระผู้เป็นเจ้า ในวิถีแห่งกันและกัน
“ตามรอยคานธี”[In The Footsteps Of Gandhi] ถือเป็นหนังสือที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมิติอันหลากหลายทางความคิดผ่านภูมิปัญญาอันแหลมคมแห่งการตั้งคำถามของ “แคทเธอรีน อิงแกรม” เป็นคำถามที่ทรงคุณค่าและสื่อถึงพลังแห่งสำนึกคิดอันยิ่งใหญ่ของ “มหาตมา คานธี” เป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่สามารถยืนยันได้ว่า “การตั้งคำถามนั้นเป็นเรื่องยาก และมีโอกาสทำให้ดีและมีความหมายที่ล้ำลึกได้ยากยิ่งกว่าการแสวงหาคำตอบ” คำถามทุกคำถามที่เธอตั้งขึ้นล้วนผ่านการสืบค้นและแสวงหาต้นรากแห่งการเชื่อมโยงบริบททางความคิดและการกระทำของ “มหาตมา คานธี” กับผู้ถูกสัมภาษณ์ในฐานะผู้เดิน “ตามรอยคานธี” มาอย่างละเอียด ที่สำคัญพวกเขาเหล่านั้นล้วนต่างเป็นนักกิจกรรม และผู้เยียวยาสังคมที่มีบทบาทอันสำคัญต่อการสร้างสีสันแห่งความหวังให้แก่โลกและชีวิตทุกๆชีวิต...บนโลกนี้...ผลรวมทางคุณค่าของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่ “ดุลยภาพแห่งการสอดผสานรอยสัมพันธ์แห่งการตระหนักรู้อันเจิดกระจ่าง” ที่เกิดขึ้นระหว่างกันในห้วงเวลาและบรรยากาศของการสัมภาษณ์ด้วยการรำลึกถึง เครื่องเตือนใจแห่งประสบการณ์ของการตระหนักรู้...ที่ไม่มีวันถูกลบเลือน...โดยเฉพาะกับความยิ่งใหญ่[มหา]แห่งจิตใจ[อาตมา]...ของผู้มีจิตใจอันยิ่งใหญ่เยี่ยง “มหาตมา คานธี”...แท้จริงแล้วคำว่า ‘คานธี’ ถูกสันนิษฐานทางภาษาว่าแผลงมาจากคำว่า “คนธ” ซึ่งแปลว่า ‘กลิ่น’ หรือตรงกับคำว่า “สุคนธ์” ในภาษาไทย หรือมีนัยยะหมายถึงผู้มีอาชีพ “ขายเครื่องเทศของหอม”
นับเนื่องถึงวันนี้ “มหาตมา คานธี” ได้มีอายุครบ “152 ปีแห่งชาตกาล” ในเดือนตุลาคมนี้... ผลพวงแห่งการต่อสู้พร้อมด้วยถ้อยคำสั่งสอนของท่านที่ฝากไว้แก่โลกนี้ นับวันก็ยิ่งจะเติบกล้าขึ้น เป็นตัวอย่างแห่งการเรียนรู้อันไม่รู้จบรู้สิ้นของผู้คนทั่วทั้งโลก รวมทั้ง ‘แคทเธอรีน อิงแกรม’ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจตรงส่วนนี้มาขยายต่อเป็นผลงานที่แตกดอกออกกอในเชิงภูมิปัญญาขึ้นมาอย่างน่ายกย่อง...มันเป็นเหตุแห่งผลของการ “เดินทางตามรอย” ค่าความหมายแห่งศรัทธาอันดีงามยิ่งนี้ด้วยสำนึกคิดอันบริสุทธิ์ซึ่งถือเป็นดั่ง “ของขวัญแห่งอนาคต” ในจิตใจแห่งความเป็นนิรันดร์ของคนทุกคนบนโลกนี้...
“ความคิดที่เป็นกุศลก็เป็นเหมือนกลิ่นหอม...และแน่นอนว่า จะไม่มีแม้แต่ขณะเดียวในชีวิต...ที่มนุษย์จะไม่สามารถรับใช้ผู้อื่นได้...นั่นคือสัจจะ”