การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 ก.ค.64 วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้อภิปรายว่า กฎหมายคุ้มครองพยานในคดีอาญามีความสำคัญ อยากให้พิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากในร่างกฎหมายดังกล่าวเขียนว่า พยาน หมายถึง พยานบุคคล และผู้ให้เบาะแสแก่เจ้าหน้าที่เท่านั้นแต่ในคดีอาญากฏหมายวิ.อาญา พยาน ประกอบด้วย พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้
ในทางปฏิบัติบุคคลเป็นพยาน จะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอและคำพูดของบุคคลจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ บุคคลอาจเพียงบอกเล่าไปสูงพยานเอกสาร พยานวัตถุ ที่มีความสำคัญต้องได้รับการคุ้มครองด้วย ร่างควรปรับปรุง และการคุ้มครองพยานที่อยูในอำนาจเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฏหมายในปัจจุบันบ่อยครั้งถูกมองว่าจะมีการครอบงำและเปลี่ยนแปลงความจริงได้ง่าย จึงถือว่าในส่วนนี้มีความสำคัญ ต้องมีหลักประกันว่าเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น
“การที่จะให้พยานได้รับการคุ้มครอง เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนสกุล หลักฐานทะเบียนราษฎร์ มีความจำเป็น แต่ถ้าเขียนกฏหมายให้หน่วยงานทะเบียนราษฏร และทำบัตรประจำตัวประชาชน เปลี่ยนแปลงนั้น จะขัดกฏหมาย พ.ร.บ.บัตรประชาชน พ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร์ ไม่เห็นด้วย เป็นการทำลายความจริงของประเทศ เพราะสำนักงานทะเบียนราษฎร์ หรือบัตรประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องเป็นข้อมูลจริง แอพลิเคชั่นเป็นงานบริการ ต้องมีระบบป้องกันการนำข้อมูลเท็จ
ถ้าเราให้เขาสามารถเปลี่ยนเป็นเรื่องโกหกได้ ประเทศไทยจะถูกเปลี่ยนประเทศโกหก การมีระบบคุ้มครองแต่ต้องไม่ทำลายระบบงานทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนของประเทศ ซึ่งใน พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษก็เคยมีลักษณะเช่นนี้ ผมเคยคุยกับกรมการปกครองว่า ถ้ากล้าเปลี่ยนอุดมการณ์ประเทศไทยจะไม่มีการยอมรับทราบว่าถึงปัจจุบันกรมการปกครองไม่ยอมเปลี่ยนตามที่หน่วยงานร้องขอ
ซึ่งใน พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ ให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีอํานาจให้บุคคลใด จัดทําเอกสารหรือหลักฐานใดขึ้นหรือเข้าไปแฝงตัวในองค์กรหรือกลุ่มคนใด เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวนและถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ผมคิดว่าทำแค่นี้ก็เพียงพอ ไม่ควรไปสั่งให้ทะเบียนราษฎร์ไปปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงข้อมูลจะเป็นการโกหกประชาชนจะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การระบุมาตราความผิดที่อยู่ในเกณฑ์คุ้มครองแคบไปไม่ตอบโจทย์ปัญหา จะต้องไม่มีการลงว่าเป็นมาตรานั้น มาตรานี้ แต่ควรจะลงเป็นความผิด เช่น ความผิดที่สลับซับซ้อน มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ความมั่นคง และเป็นการทุจริตคอรัปชั่นที่สำคัญ ผู้กระทำผิดเป็นผู้ทรงอิทธิพลหรือเป็นองค์กรอาชญากรรมแทน ที่จริงแล้วมีกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ต้องหาของประชาชนจำนวนมาก เมื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันคุ้มครองพยานเองแล้วแม้กระทรวงยุติธรรมอาจจะเป็นกลาง แต่ในวันนี้ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อรัฐ แต่ยังเชื่อมั่นต่อศาลอยู่บ้าง จึงคิดว่าสำนักงานคุ้มครองพยานควรจะไปหารือในวาระที่ 2 ควรหารือศาลยุติธรรม ว่าควรจะไปอยู่กับศาลยุติธรรมได้หรือไม่ มิฉะนั้นแล้วพยานกลุ่มนี้จะเสี่ยงพยานเท็จได้ หรือเป็นพยานที่จะทำเพื่อให้ประโยชน์แก่รัฐเป็นส่วนใหญ่ เพราะวันนี้รัฐตกเป็นผู้ต้องหาที่ประชาชนมองว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน การซ้อมทรมาน หรือการทุจริตคอรัปชั่นนั้น ผู้คุ้มครองอาจจะถูกผู้มีอิทธิพลไปสั่งสำนักคุ้มครองพยานได้ กฎหมายนี้อาจจะไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
“มีหลายประการในเรื่องนี้ที่เป็นประโยชน์ เพราะคนที่เป็นพยานนั้น ต้องยอมรับว่าเขายอมเสียละชีวิต เมื่อคุณกล้ามาเป็นพยานเพื่อเปิดโปงผู้ทรงอิทธิพล ความไม่ปลอดภัยจะมีตลอดชีวิต ดังนั้นการไปช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูหรือเปลี่ยนแปลงให้ปลอดภัย รวมถึงครอบครัว อาชีพของพยานด้วย
ดังนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ ฝากผู้ที่เป็นกรรมาธิการอยากให้มีความรอบคอบรอบด้าน และเกิดประโยชน์ ความเป็นจริงการจับกุมผู้ต้องหาในวันนี้ไม่ได้จับจากพยานบุคคล แต่จับกลางอากาศทางภาพ ทางเสียงและการสื่อสารทั้งนั้น ข้อมูลต่างๆจะเก็บอยู่ใน cloud ในเทคโนโลยีต่างๆ ดังนั้น คิดว่าต้องขยายการคุ้มครองพยาน ให้เป็นไปตามวิธีพิจารณาความอาญา”