เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พืชกระท่อม พ.ศ... ซึ่งคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ
โดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจงหลักการและเหตุผล ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็นต่อการกำกับและควบคุมการใช้พืชกระท่อมเท่าที่จำเป็นไม่ให้บริโภคเกินสมควรที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาเพื่อรองรับกับการปลดล็อคพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ตาม กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 8 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 สิงหาคม นี้ โดยสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม คือ 1. การปลูกพืชกระท่อม นำเข้า และส่งออกเชิงอุตสาหกรรม รวมถึงการขายในระบบอุตสาหกรรมที่มีเกินปริมาณที่กำหนดต้องได้รับอนุญาต 2. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต เพาะปลูก ขาย นำเข้าและส่งออก พืชกระท่อม และกำหนดหน้าที่ผู้ไดัรับใบอนุญาตเพื่อควบคุม กำกับการเพาะปลูก การขาย การนำเข้าและการส่งออก 3.กำหนดมาตรการควบคุมผู้รับใบอนุญาต กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จะถูกสั่งพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้
นายสมศักดิ์ ชี้แจงด้วยว่า 4.กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ที่อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคที่มากเกินสมควร 5.กำหนดข้อห้ามเพื่อป้องกันใช้ในทางที่ผิด เช่น ห้ามขายใบกระท่อม น้ำต้มกระท่อม หรือ อาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมให้กับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร , ห้ามขายใบกระท่อม น้ำต้มกระท่อม ในสถานศึกษา หอพัก หรือขายด้วยวิธีที่ไม่สามารถควบคุมดูแลได้ เช่น เครื่องขาย หรือขายโดยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามบริโภคน้ำต้มที่ผสมกับยาเสพติดให้โทษ วัตถุอันตราย ยกเว้นเพื่อศึกษาวิจัย หรือรักษา 6. แต่งตั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุม กำกับการเพาะปลูก นำเข้า ส่งออก เพื่อป้องกันใช้ในทางที่ผิด 7. กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนเพาะปลูก นำเข้าส่งออก ขายที่ไม่ได้รับอนุญาติ หรือฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งนี้ ยืนยันว่าการควบคุมและกำกับการใช้พืชกระท่อมนั้น เพื่อประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและประโยชน์ตามวิถีชุมชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการอภิปรายของส.ส.ส่วนใหญ่สนับสนุนและรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะเห็นความจำเป็นต่อการกำกับและควบคุม อย่างไรก็ดีมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงเนื้อหาของร่างกฎหมาย เช่น การควบคุมเมล็ดพันธุ์เพื่อให้คุณภาพในสรรพคุณทางรักษาโรค, นิรโทษกรรมผู้ที่ปลูกกระท่อมอยู่ก่อนที่กฎหมายมีผลบังคับใช้, แก้ไขมาตรการห้ามขายทางอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ เพราะอาจเข้าข่ายเอื้อต่อนายทุน และตัดตอนวิถีชุมชน ที่รวมตัวเพื่อการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนในการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม
และตอนท้ายนายสมศักดิ์ ชี้แจงประเด็นอภิปรายว่า การออกกฎหมายเพื่อปลดล็อคกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่5 หลังติดในกฎหมายกว่า 78 ปี ตนยอมรับว่าไม่สามารถตัดขาดจากกฎหมายได้ 100% เพราะปัจจุบันมีการนำเข้าและลักลอบนำเข้าใบกระท่อม เพราะปริมาณกระท่อมในประเทศมีจำนวนน้อย และกว่าจะทำให้ใบกระท่อมไปสู่ระบบอุตสาหกรรมต้องใช้เวลา 4 ปี
“ผมอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีอีกไม่นาน อาจ 2 ปีกว่าเท่านั้น ไม่มีทางที่จะเอื้อประโยชน์เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง สำหรับการออกกฎหมายพืชกระท่อม 19 มาตรา แต่เมื่อถึงชั้นกฤษฎีกา พบว่ามีบางเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญ เช่น ข้อกำหนดให้ครัวเรือนปลูกต้นกระท่อมได้ ไม่เกิน 3 ต้นเพื่อไม่ให้ล้นตลาด และราคาตก แต่พบว่าขัดรัฐธรรมนูญ และทำให้ทำไม่ได้ ดังนั้นร่างพ.ร.บ.พืชกระท่อม ไม่จำกัดจำนวนไร่การปลูกสำหรับเกษตร แต่หากจะส่งออกต้องขออนุญาต เพื่อให้เกิดการควบคุมในระบบอุตสหากรรม” นายสมศักดิ์กล่าว
รมว.ยุติธรรม ชี้แจงด้วยว่า สำหรับบุคคลที่ต้องคดีกระท่อม จากการตรวจสอบพบว่ามี 8,000 ราย ดังนั้นเมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปลดล็อคกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ในวันที่ 24 สิงหาคม บุคคลที่ต้องคดีจะพ้นโทษด้วยความตั้งใจของพวกเราจะดำเนินการต่อไป และหลายเรื่องตนยืนยันว่าทำด้วยใจอย่างแท้จริง
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติ ผลปรากฎว่า ส.ส.รับหลักการ จำนวน 256 เสียง ไม่รับหลักการ 18 เสียง งดออกเสียง 2 เสียงยและไม่ลงคะแนน 1 เสียง จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คน เพื่อพิจารณาเนื้อหาต่อไป