เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 64 พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผบก.ป. พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปอท. พ.ต.อ.มนตรี เทศขัน รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย ผบก.ป. พ.ต.อ.อธิป พงษ์ศิวาภัย รอง ผบก.ปอท. พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.อัครพล มณีวรรณ, พ.ต.ท.ศราวุธ จันต๊ะวงค์, พ.ต.ท.สาธิต สมานภาพ, พ.ต.ท.อลงกต คชแก้ว พ.ต.ท.ก่อเกียรติ วุฒิจำนงค์ รอง ผกก.1 บก.ป. พ.ต.ท.ชลิต ทิพย์ธำรง พ.ต.ท.ชนินทร ง่วนสน รอง ผกก.(สอบสวน) กก.1 บก.ป. พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์ ผกก.1 บก.ปอท. พ.ต.อ.อมรชัย ลีลาขจรจิตร ผกก.กลุ่มงานสนับสนุนฯ บก.ปอท. ร่วมกันปฏิบัติการทลายขบวนการปั่น FAKE NEWS โจมตีบริษัทนมชื่อดัง
ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 มี.ค.63 นางสุดถนอม กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการบริษัทมะลิกรุ๊ป 1962 จํากัด (นมข้นตรามะลิ) และนายอิษวัต สุจิมนัสกุล ที่ปรึกษาบริษัท เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.ชลิต ทิพย์ธำรง รอง ผกก.สอบสวน กก.1 บก.ป. ให้เอาผิดกับแอดมินเพจเฟซบุ๊กรายหนึ่งหลังเพจได้ดิสเครดิตด้วยการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จใส่ร้ายโจมตีคุณภาพของผลิตภัณฑ์นมตรามะลิ จนทำให้เกิดผลเสียต่อความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภค
นายอิษวัต เผยว่า ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์นมตรามะลิได้ถูกเพจเฟซบุ๊กรายนี้โจมตีด้วยการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์นมตรามะลิ โดยอ้างว่านมตรามะลิไม่มีคุณภาพ มีแบคทีเรียและสารกันบูดปนเปื้อน ซึ่งไม่เป็นความจริงโดยเพจได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เข้ามาตรวจคุณภาพ และมาตรฐานการผลิต เมื่อหน่วยงานต่างเข้ามาตรวจสอบก็ไม่พบความผิดปกติตามที่เพจกล่าวอ้างแต่อย่างใด ซึ่ง อย.ยังเคยออกหนังสือยืนยันคุณภาพของผลิตภัณฑ์นมตรามะลิว่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน GMP ตามกฎหมาย ไม่พบกรดเบนโซอิกที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย จึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
จากการสืบสวนของตำรวจกองปราบปราม ร่วมกับตำรวจ บก.ปอท. ทราบว่า ตัวเเอดมินเพจซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท ที่ปรึกษาด้านโฆษณา และ ประชาสัมพันธ์ เป็นตัวการสำคัญในการวางแผนการดำเนินการทำลายภาพลักษณ์บริษัท ของผู้เสียหายมีผู้ร่วมกระทำความผิดอีก 10 คน ซึ่งทั้งหมดได้รับการว่าจ้างจากนายทุน โดยทำในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำเริ่มตั้งเเต่การเก็บรวบรวมข้อมูลของบริษัทผู้เสียหาย เพื่อหาจุดอ่อนนำมาสร้างประเด็นในการทำลายภาพลักษณ์ หลังจากนั้นได้มีการให้ผู้ร่วมขบวนการไปยื่นหนังสือตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ของบริษัทผู้เสียหายกับหน่วยงานของรัฐ และนำผลการตรวจสอบไปเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงลดความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้เสียหาย ตลอดจนมีการวางแผนแก้ไขสถานการณ์ในกรณีที่หากถูกบริษัทของผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีกลับ โดยจุดมุ่งหมายหลักในการดำเนินการของขบวนการนี้ คือต้องการให้บริษัทคู่ค้าฯ ต่างๆ เลิกวางขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทผู้เสียหาย
กองปราบปราม เล็งเห็นว่าคดีกระทำการโดยการสร้าง FAKE NEWS เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง กระทำการในลักษณะเป็นขบวนการ มีการวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำ และมีเบื้องหลังเป็นกลุ่มนายทุน ซึ่งการสร้าง FAKE NEWS อาจสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนที่รับฟังข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ได้ด้วยเช่นกัน จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม ดำเนินการจับกุมผู้ร่วมขบวนการมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็ว
เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม จึงได้เร่งสืบสวนขยายผลเพื่อหาตัวผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำ จนกระทั่งทราบว่า เจ้าของธุรกิจอุตสาหกรรมรายหนึ่ง ซึ่งเคยทำธุรกิจร่วมกับบริษัทของผู้เสียหาย เป็นผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้ทั้งหมด โดยได้สั่งการให้เลขาฯ คนสนิท และทนายที่รู้จัก ดำเนินการติดต่อเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์กับพวก ให้ดำเนินการทำลายภาพลักษณ์บริษัทของผู้เสียหาย โดยจ่ายค่าจ้างและค่าดำเนินการทั้งหมดเป็นเงินจำนวนรวมกว่า 12 ล้านบาท จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ทราบถึงมูลเหตุจูงใจในการจ้างให้ดำเนินการทำลายภาพลักษณ์บริษัทของผู้เสียหาย ว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากปมขัดแย้งในการทำธุรกิจ
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. จึงได้ทำการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จนนำไปสู่การขออนุมัติหมายจับผู้ร่วมขบวนการทั้งหมด 14 ราย เป็นหญิง 2 ราย ชาย 12 ราย โดยในวันที่ 7 ก.ค.64 เจ้าหน้าที่ ได้ นำกำลังเข้าทำการตรวจค้นเป้าหมาย 17 จุด จับกุมผู้ต้องหาได้ 14 ราย พร้อมของกลาง สมุดบัญชีธนาคาร เครื่องมือสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เอกสารเกี่ยวกับการเงิน และเอกสารต่างๆ รวมกว่า 100 รายการ ซึ่งน่าเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ในข้อหาว่า ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา, เป็นอั้งยี่และช่องโจร, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันบิดเบือนโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ดำเนินคดีต่อไป
กองบังคับการปราบปราม จึงขอฝากเตือนภัยประชาชน สำหรับการรับฟังข้อมูลข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ท่านควรใช้ความระมัดระวัง ตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาข้อมูลข่าวสารอย่างรอบคอบก่อนที่ตัดสินใจเชื่อข้อมูลข่าวสารนั้นๆ เนื่องจากในปัจจุบันมีกลุ่มบุคคล เพจ เว็บไซต์บางกลุ่ม ที่เผยเเพร่ข้อมูลข่าวสารในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริง หรือเป็นการปล่อย FAKE NEWS เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเอง ส่งผลให้ประชาชนหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความเสียหาย