วันที่ 6 ก.ค. 64 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 83 และมาตรา 91) ของรัฐสภา ซึ่งเป็นประชุมนัดแรก มีวาระสำคัญ คือการพิจารณาเลือกตำแหน่งต่างๆของคณะกมธ. ซึ่งที่ประชุมกมธ. เห็นชอบให้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ดำรงตำแหน่งประธานกมธ.
สำหรับนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าจะส่งชื่อชิงตำแหน่งประธานกมธ.นั้น พบว่า นายบัญญัติ เป็นเพียงกมธ.และที่ปรึกษา ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ดำรงตำแหน่งเป็นกมธ.และประธานที่ปรึกษา
อย่างไรก็ตาม สำหรับตำแหน่งรองประธานกมธ. จำนวน 7 คน ประกอบด้วย นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ส.ว. เป็นรองประธานกมธ. คนที่หนึ่ง นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย นายสมชาย แสวงการ ส.ว. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
ส่วนโฆษกกมธ. มีจำนวน 7 คน ประกอบด้วย นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ส.ว. นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล นายจตุพร เจริญเชื้อ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย และนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ ทั้งนี้ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นเลขานุการ
ทั้งนี้ นายวิรัช กล่าวว่า คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เมื่อดูรายละเอียดและนำร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐมาประกอบ จะทำให้การเดินหน้าพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็วไม่น่าเกิน 2 สัปดาห์ และเชื่อว่าไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะหลักการใกล้กันและเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 124 แต่หากมีคนสงสัยจะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความก็ไม่ช้า เพราะในระยะนี้สามารถทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญรอไว้ได้