พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงและประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและแนวพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขให้แก่ประชาชน และพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า ดังพระราชดำรัสที่ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559
นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระองค์ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องพระราชดำริ และแนวพระราชดำริต่างๆ ของสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้องคมนตรีติดตามการดำเนินงานและความคืบหน้าในการดำเนินงานของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานกรรมการ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานกรรมการฯ มีผู้แทนส่วนงานที่ร่วมสนองพระราชดำริเป็นคณะอนุกรรมการฯ มีการแบ่งหน้าที่ทำงานที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็นกรรมการและเลขานุการ
จากการสนองพระราชดำริของคณะอนุกรรมการฯ ในระดับพื้นที่ ช่วงตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 15 มีนาคม 2564 ได้มีการติดตามไปแล้วจำนวน 47 โครงการ รวม 22 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 4 ภาค และจากการติดตามและขับเคลื่อนโครงการของคณะกรรมการฯ ทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ ทั้ง 4 ภาค สามารถขับเคลื่อนโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก กปร. และกรมชลประทาน ไปแล้ว จำนวน 60 โครงการ ยังอยู่ระหว่างการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ อีก 21 โครงการ ในขณะเดียวกันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริโดยตรงจากเหตุการณ์เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาพื้นที่จังหวัดสกลนครได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ตาลัส” และพายุโซนร้อน“เซินกา” ทำให้มีน้ำไหลจากตอนบนลงสู่พื้นที่อ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และเอ่อล้นข้ามทำนบดิน จนเกิดการกัดเซาะสันทำนบดินพังเสียหาย วันที่ 31 กรกฎาคม 2560 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงาน กปร. ให้รีบดำเนินการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ “ห้วยทรายขมิ้น” ที่ประสบปัญหาอุทกภัยชำรุดเสียหายจากพายุโซนร้อนเซินกา ให้ใช้การได้โดยเร็ว ต่อมาในวันที่ 12 สิงหาคม 2560 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมีพระราชกระแส …..ถือว่าเป็นความเร่งด่วนอย่างสำคัญ น่าจะตรวจระบบ อ่าง, เขื่อน ฯลฯ ในพื้นที่นี้ต่อไป
ในปี 2561 – 2562 สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมชลประทาน สนองพระราชดำริจัดทำ โครงการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ 22 แห่ง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ด้วยการสำรวจและปรับปรุงอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอ่างเก็บน้ำที่สร้างมานาน มีอายุการใช้งานเฉลี่ย 30 ปีขึ้นไป และมากที่สุด 62 ปี ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จครบทุกแห่ง ทำให้อ่างเก็บน้ำอยู่ในสภาพ มั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ เพื่อให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – กันยายน 2563 จำนวน 74 โครงการ
และแม้ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด-19 ระบาดทั่วโลก การสนองงานของคณะอนุกรรมการฯ ก็ไม่ได้หยุดนิ่งยังคงเดินหน้าดำเนินงานเพื่อให้โครงการต่างๆ บรรลุผลตามเป้าหมายเพื่อให้ราษฎรได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ขณะเดียวกันทางศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศยังคงดำเนินกิจกรรมเพื่อให้การช่วยเหลือตามสภาพการณ์ ทั้งการฝึกอบรมผ่านเครือข่ายโซเชียล ไปจนถึงการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อการบริโภคสู่ราษฎรเพื่อนำไปเพาะปลูกเป็นพืชอาหารสำหรับบริโภคในช่วงการระบาดของโรค ยังผลให้ราษฎรมีกินมีใช้อย่างไม่ขาดแคลน
นอกจากนี้ยังทรงรับสั่งถึงแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่รับสั่งไว้หลายประการ ขอให้นำมาทบทวนปฏิบัติ อย่างสถานการณ์น้ำท่วม เช่น ในเขตกรุงเทพมหานคร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ข้าราชบริพารในพระองค์ ร่วมกับหน่วยราชการในเขตพื้นที่ ร่วมกันกำจัดผักตบชวา วัชพืช เก็บขยะมูลฝอยที่กีดขวางทางระบายน้ำบริเวณพื้นที่คลองต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง
พระราชกรณียกิจมากมายที่พระองค์พระราชทานความช่วยเหลือเพื่อให้ราษฎรได้หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ตลอดจนการปฏิบัติงานถวายด้วยหัวใจและความพร้อมเพรียงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ราษฎรตามพระราชประสงค์เป็นที่ประจักษ์อย่างขวางในขณะนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ