นักวิชาการชี้ในไทยมี 2 แห่งที่ผลิตพลาสติกขึ้นรูป คือ ที่หมิงตี้ และไออาร์พีซีที่ระยอง แต่หมิงตี้ใช้เทคโนฯไต้หวัน ไม่มีอีไอเอเพราะเกิดก่อนจะมีกฎหมายบังคับใช้ และเกิดก่อนผังเมืองจะมี ระบุทุกปีก.อุตฯต้องส่งจนท.มาประเมินความปลอดภัย แต่ปีนี้ติดโควิด รง.เลยทำรายงานส่งเอง ขณะไออาร์พีซีใช้เทคโนฯเยอรมัน มีอีไอเอคุม มีระบบป้องกันทันสมัย ห่างไกลชุมชน เผยหมิงตี้จุดล่อแหลมอื้อ อยู่ใกล้ชุมชนไม่มีพื้นที่สีเขียวกั้น เพราะผังเมืองสมุทรปราการให้เป็นพื้นที่ม่วง มีชุมชนรายล้อมได้ ขณะรง.เก็บสารเคมีเพียบ ท่ามกลางเทคโนฯเก่า ตกมาตรการสิ่งแวดล้อม-ความปลอดภัย ไม่มีแผนซ้อมอพยพในชุมชน มีแต่เฉพาะในรง. นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "ข้อเท็จจริงของโรงงานผลิตพลาสติกโฟม EPS ในประเทศไทย 1.โรงงานผลิต EPS หรือ Expandable Polystyrene ซึ่งเป็นพลาสติกเรซิ่นสำหรับขึ้นรูปในประเทศไทยมี 2 แห่งคือ โรงงานบริษัทหมิงตี้ ถนนกิ่งแก้ว สมุทรปราการที่ระเบิด และโรงงาน EPS ในเขตประกอบการบริษัท ไออาร์พีซี (มหาชน) จำกัด ต.เชิงเนิน อ.เมือง จ.ระยอง 2.ความแตกต่างคือ โรงงานของบริษัทหมิงตี้ใช้เทคโนโลยีของไต้หวัน ตั้งเมื่อปี 2532 อยู่ใกล้ชุมชน ไม่ได้จัดทำรายงานอีไอเอ เนื่องจากเกิดขึ้นก่อนพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณสิ่งแวดล้อมแห่งชาติปี 2535 แต่จัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยหรือ ESA ในช่วงการขออนุญาตตั้งโรงงานเท่านั้น และต้องรายงานผลให้กรมโรงงานทราบทุกปี แต่ความเข้มข้นในมาตรการต่างๆ จะอ่อนด้อยกว่าในรายงานอีไอเอค่อนข้างมาก อาศัยที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินความปลอดภัยทุกปี ซึ่งปีนี้ติดโควิด จึงให้โรงงานทำรายงานส่งเอง (สภาพแวดล้อมโดยรอบโรงงานหมิงตี้ ภาพจากเพจ sonthi kotchawat) ส่วนโรงงานของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด เป็นโรงงานตั้งขึ้นใหม่ตั้งในปี 2561 ในเขตประกอบการที่ระยองใช้เทคโนโลยีของอูเดห์ประเทศเยอรมัน จัดทำรายงานอีไอเอ และจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน่ช่วงการขออนุญาตตั้งโรงงานและต้องทำรายงานการติดตามตรวสอบสิ่งแวดล้อมซึ่งรวมถึงเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยส่งให้สผ.,กรมโรงงาน ,อุตสาหกรรมจังหวัดและทสจ.ระยองปีละ 2 ครั้ง และกำหนดให้หน่วยราชการทุกภาคส่วนและประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงทำการตรวจสอบร่วมกันทุกปี ข้อมูลที่ทันสมัยของโรงงานในเขตประกอบการไออาร์พีซี คือติดตั้งระบบดับเพลิงหรือ Fire Extinguisher เช่น ระบบ Automatic water sprinkler, ระบบ Line foam system เป็นต้น พร้อมใช้งานแบบอัติโนมัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้หรือเมื่ออุณหภูมิในถังเก็บสารเคมีมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกินค่าที่กำหนด (เขตประกอบการบริษัทไออาร์พีซี ภาพ จากเพจ sonthi kotchawat) 3.โรงงานของบริษัท หมิงตี้ ตั้งเมื่อปี 2532 ก่อนมีการประกาศผังเมืองรวม แต่ในปี 2544 ได้มีการกำหนดผังเมืองรวมของจังหวัดสมุทรปราการขึ้นมา ซึ่งกำหนดให้พื้นที่โรงงานดังกล่าวและใกล้เคียงเป็นพื้นที่สีม่วงหรือเขตอุตสาหกรรมแต่ล้อมรอบด้วยพื้นที่สีแดงหรือย่านพาณิชยกรรมและพื้นที่ที่พักอาศัย ทำให้ชุมชนขยับเข้ามาอาศัยอยู่ติดกับโรงงานโดยไม่มีเขตพื้นที่สีเขียวหรือ Buffer zone กั้น เช่น พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่โล่ง เป็นต้น ดังนั้น เมื่อโรงงานเก็บสารเคมีที่อันตรายไว้ในโรงงานไว้ปริมาณมาก (สไตรีนโมโนเมอร์มากกว่า1,600 ตัน ก๊าซเพนเทนประมาณ 60-100 ตัน) เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยเป็นแบบเก่า มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยไม่เข้มข้น ที่สำคัญไม่มีมาตรการการซ้อมแผนอพยพของชุมชนเมื่อเกิดอุบัติภัย ที่ผ่านมาซ้อมแต่แผนอพยพพนักงานเท่านั้นและเมื่อเกิดไฟไหม้จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรวมทั้งทรัพย์สินของประชาชนใกล้เคียงจำนวนมากดังกล่าว 4.บทเรียนที่สำคัญคือรัฐต้องเร่งสำรวจจำนวนและประเภทของโรงงานที่ผลิตสารอันตรายหรือมีความเสี่ยงสูงที่ตั้งใกล้ชุมชน และรัฐต้องเสนอมาตรการจูงใจที่เหมาะสมและคุ้มค่าให้โรงงานย้ายไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม แต่ในขณะที่ยังย้ายไม่ได้ ราชการจะต้องเข้มข้นในการตรวจสอบทุกปี รวมทั้งกำหนดมาตรการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยอย่างเข้มงวดด้วย (ขอบคุณภาพจากเพจ sonthi kotchawat และ Dacha Jongpadklang)