รง.ระเบิดสารเคมีรั่วไหล ปัญหาซ้ำซากไทย! ตราบที่ยังไร้วิชั่น ผู้เชี่ยวชาญระบุนี่ไม่ใช่ครั้งแรก และแม้เกิดไม่บ่อย แต่ก่อความสูญเสียเป็นมูลค่ามหาศาลให้ผู้คนในสังคมไทย สะท้อน 2 เหตุหลัก ความไร้วิสัยทัศน์ มุ่งเศรษฐกิจโตฉาบฉวย นโยบายสวยหรูแต่วิธีปฏิบัติกลับตรงข้าม ชี้เห็นชัดจากงบฯสิ่งแวดล้อมที่ถูกหั่นลงทุกปี โดยเฉพาะในรอบ 5 ปีที่แทบไม่เหลืออะไร ที่สำคัญยังไม่มีกฎหมาย "ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ” ที่เป็นเหมือนกล่องดำพิสูจน์ได้ชัดจากทุกรง.เกิดปัญหา เลยเอาตัวรอดได้ทุกครั้ง ระบุถึงเวลาต้องแก้ไข-เร่งบังคับใช้ เพื่อคืนความปลอดภัยให้สังคม รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร โพสต์ผ่านเฟซบุํกระบุ เหตุระเบิดพร้อมกับการรั่วไหลของสารเคมี ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย! ทำไมเหตุการณ์ลักษณะนี้ยังคงเกิดขึ้น แม้เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่สร้างความสูญเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นมูลค่ามหาศาลให้กับสังคมไทย? แล้วเราควรแก้ปัญหากันยังไงดีเพื่อให้ไม่เกิดซ้ำซาก? มาชวนคิดหาคำตอบกันนะครับ #AirPollution #Explosion ปัญหาในลักษณะนี้ที่เกิดซ้ำซากน่าจะมาจาก 2 สาเหตุหลัก โดยสาเหตุแรก คงหนีไม่พ้นการที่ประเทศไทยมุ่งเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไป จนให้ความสำคัญน้อยที่สุดกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนไทยในที่สุด แม้ว่าเราจะมีนโยบาย BCG ที่สวยหรูซึ่งบอกว่าจะเน้นการเติบโตแบบสีเขียวรวมถึงการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัติคงเกิดขึ้นได้ยาก สังเกตจากงบประมาณแผ่นดินด้านการสิ่งแวดล้อมในปีงบประมาณ 2565 ล่าสุดที่ถูกหั่นลดลงจากปี 2564 ถึง 47% มากที่สุดเมื่อเทียบกับหมวดต่างๆ และต่ำสุดในรอบ 5 ปี! (ภาพที่ 2) และหากเจาะลึกลงมาที่รายจ่ายด้านการควบคุมและกำจัดมลภาวะซึ่งรวมมลพิษหลายอย่างเข้าด้วยกัน เช่น อากาศ ภูมิอากาศ เสียง เป็นต้น งบประมาณก็ถูกปรับลดลงเรื่อยๆ จาก 3,013 ล้านบาทในปี 2561 เหลือเพียง 2,380 ล้านบาทในปี 2565 ถ้าเจาะลงไปอีกที่แผนงานยุทธศาสตร์จัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พบว่า มีงบประมาณทั้งประเทศเพียง 294.80 ล้านบาท ย้ำว่าทั้งประเทศ!! แล้วจะมีเงินเพียงพอไปแก้ไขปัญหาได้อย่างไร? ภาพที่ 3 ตารางด้านบนบ่งชี้ว่างบรายจ่ายลงทุนเชิงรุกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมถูกหั่นลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี เหลือเพียง 3,977.60 ล้านบาท ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่เราแก้ไขปัญหาไม่ได้แม้จะมีแผนสวยหรูก็ตาม หากเปรียบเทียบงบประมาณรายจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมกับประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านเราและสหภาพยุโรป (ภาพที่ 3 ตารางที่ 2) จะพบว่า ผู้กำหนดนโยบายของประเทศไทยให้ค่ากับสิ่งแวดล้อมต่ำที่สุด โดยงบประมาณการสิ่งแวดล้อมไม่เคยสูงเกิน 0.49% ของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมด ขณะที่ประเทศมาเลเซียและสหภาพยุโรปมีรายจ่ายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่เยอะกว่าไทยเรามาก สำหรับสาเหตุที่สองมาจากการที่ผู้กำหนดนโยบายให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนไทยควรจะได้รับเป็นประเด็นรองไม่ใช่ประเด็นหลัก สังเกตว่ากฎหมายที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทยมีน้อยและไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมาย “ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ” (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ซึ่งบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายให้กับสาธารณชนได้รับทราบ โดยเฉพาะประชาชนในบริเวณใกล้ๆ โรงงาน ทำให้ข้อมูลการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมเปรียบเสมือนกล่องดำที่ประชาชนเข้าไม่สามารถเข้าถึงได้ นักวิจัยเองก็ไม่มีข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์ผลกระทบของการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมต่อสุขภาพของประชาชน ภาคอุตสาหกรรมเลยรอดตัวทุกครั้งจากข้อกล่าวหาของสังคม ตัวอย่างปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นพิษ PM 2.5 ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ทำให้เห็นชัดเจน ภาคเกษตรมีจุดความร้อนจากดาวเทียมวัดกิจกรรมการเผาได้ รถยนต์ก็ตรวจมาตรฐานได้ แต่โรงงานสังคมทราบข้อมูลน้อยมาก ได้เวลาแล้วที่ผู้กำหนดนโยบายต้องแสดง Political Will ให้สังคมไทยได้เห็นจากการกระทำ ไม่ใช่มีดีแค่แผนหรือนโยบายที่สวยหรู กิจกรรมทุกอย่างต้องมาพร้อมงบประมาณที่เพียงพอ และต้องปกป้องสิทธิและสุขภาพของประชาชนให้มากกว่าปัจจุบัน พร้อมเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมควรเพิ่มความเข้มงวดเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน กฎหมาย “ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ” (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ควรเร่งบังคับใช้ การแก้ปัญหาที่สาเหตุด้วยการป้องกันก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นในเชิงเศรษฐศาสตร์ถือว่าคุ้มค่าอย่างมากในเชิงของการใช้จ่ายงบประมาณเมื่อเทียบกับการตามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายหลัง มาตรการด้านเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะแรงจูงใจต้องใช้ให้มากขึ้นทั้งให้รางวัลกับคนทำดีและลงโทษคนที่ทำให้สังคมเดือดร้อน แล้วพวกเราจะมุ่งไปสู่การเติบโตแบบสีเขียวอย่างยั่งยืนด้วยกันอย่างแท้จริงนะครับ #GreenGrowth"