วันที่ 5 ก.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายวีรศักดิ์ พิษณุวงศ์ ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ได้ขึ้นโพสต์ในเฟสบุ๊กส่วนตัว ชื่อ veerasak Pisanuwong ว่า เนื่องจาก เดินทางไปภูเก็ตเพื่อเปิดงาน ภูเก็ต sand box และเดินทางกลับถึงบ้านเวลา 09.45 วันนี้ ด้วยความที่ต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวม จึงขอเข้ารับการตรวจ swab ที่ รพ.สุรินทร์ เมื่อเช้า และได้กักตัวเองตั้งแต่เช้า จนถึงตอนนี้ เวลา 16.30 น. ทีมแพทย์ได้แจ้งผลเป็น บวก จึงต้องทำการรักษา ที่ รพ.ต่อไป ขอโทษทุกๆท่าน ทุกๆคนด้วยครับ ที่ทำให้กังวลใจและตกใจ ท่านใดที่ ใกล้ชิดกับผม รบกวนสังเกตอาการ 14 วัน ด้วยนะครับ จะแจ้งความคืบหน้าอีกครั้ง เพื่อความสบายใจ ของทุกคน นอกจากนั้นยังพบมีอีกหลายงาน ที่ประธานหอการค้าจังหวัดสุรินทร์ ได้ไปร่วมในงานพิธีต่างๆก่อนวันเดินทางไป จ.ภูเก็ต วันที่ 30 มิ.ย.ด้วย และที่ทำให้หลายคนวิตกกังวลกันมากคืองานการประมูลทุเรียนเมืองช้าง เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.64 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นายวีรศักดิ์ พิษณุวงศ์ เคยได้รับการฉีดวัคซีน โควิด-19 ยี่ห้อ Sinovac เข็มที่ 1 วันที่ 5 พ.ค.64 เข็มที่ 2 วันที่ 27 พ.ค.64 ที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ต่อมาผู้สื่อข่าวได้เข้าไปสอบถามกับ นพ.สินชัย ตันติรัตนานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งได้กล่าวว่า เคสของประธานหอการค้าสุรินทร์ ที่ประกาศทางเฟซบุ๊กของตนเองว่าติดโควิค19 ถือว่าเป็นสปิริตที่ดี และเป็นความรับผิดชอบที่ดี ทำให้สามารถตรวจประเมินและควบคุมได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกังวล โดยเฉพาะงานประมูลทุเรียนครั้งแรก ซึ่งทางผู้ติดเชื้อได้ไปร่วมงาน ตรวจสอบแล้วไม่มีความเสี่ยง เนื่องจากมางานประมูลทุเรียนก่อน จากนั้นเดินทางไปยังจังหวัดภูเก็ต เพื่อร่วมงานภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน-วันที่ 4 กรกฏาคม 2564 กลับมาตรวจพบว่าติดเชื้อ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ไม่มีการแสดงอาการรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการฉีดวัคซีนไปครบแล้ว 2 ครั้ง ในขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการตรวจสอบไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ และประเมินความเสี่ยงว่าช่วงใดเป็นช่วงที่น่ากังวล ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าระหว่างเดินทางไปแวะช่วงไหนบ้าง รวมไปถึงผู้ที่ร่วมเดินทางปกติดีหรือไม่และผู้ที่สงสัยตนเองก็กำลังอยู่ระหว่างสอบสวนว่าที่ไปด้วยกัน มีใครเป็นเพิ่มเติมหรือไม่ เราจะได้สามารถประเมินแหล่งที่มาของเชื้อมาจากที่ใดได้ และมีการประสานความร่วมมือระหว่างจังหวัดต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้ควบคุมโรคให้ได้โดยเร็ว ส่วนภาพรวมจังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วยไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่มาจากจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่เสี่ยง ตั้งแต่ระลอกเดือนเมษายนเป็นต้นมา ผู้ป่วยทุกรายหรือทุกคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้น เราได้ติดตามค้นหาและควบคุมได้ทุกกรณีและปิดเคสคลัสเตอร์นั้นไป ในช่วงตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายนเป็นต้นมา เราทราบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ศักยภาพการรักษาพยาบาลจะต้องใช้ความร่วมมือกันทั้งประเทศ โดยจังหวัดสุรินทร์ประกาศเป็นสุรินทร์พร้อมที่ดูแลคนสุรินทร์ที่กลับมาจากต่างจังหวัด โดยการดำเนินการเป็นพื้นที่โลคอลคอรันทีนสำหรับกลุ่มที่เสี่ยง และกลุ่มที่เป็นและได้รับการประสานมาว่าติดเชื้อแล้ว เรามีการประสานไปที่ครอบครัว ตำบล และโรงพยาบาล เรียกว่าเป็นระบบ 3 หมอ คือ อสม.ในพื้นที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและโรงพยาบาลอำเภอ บอกเล่าปรึกษาเรื่องอาการและการเดินทาง ท่านก็จะได้เข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลสุรินทร์ได้เป็นอย่างดี โดยการเตรียมความพร้อม จังหวัดสุรินทร์จากเดิมจะเห็นได้ว่ามีคนไข้วันละ 0-2 รายเท่านั้น พอช่วงหลังวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 50-60 รายต่อวัน เป็นผู้ป่วยที่มาจากพื้นที่ภายนอกทั้งสิ้น มีการประสานเข้าหรือเข้ามาถึงพื้นที่แล้วมีการแจ้ง ผลดีของการที่ประกาศสุรินทร์พร้อม ผู้ที่จะเข้ามามีการประสานกับพื้นที่ก่อน นับว่าเป็นผลดีในการควบคุมโรคของจังหวัดสุรินทร์ อาจจะมีบางคนที่ยังสงสัย ก็ใช้โอกาสนี้แจ้งพื้นที่ให้ความสำคัญกับทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่ ถือเป็นนโยบายของคณะกรรมโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ที่พยายามควบคุม ทั้งนี้ ศักยภาพของจังหวัดสุรินทร์นั้น ทีมแพทย์ได้มีการปรึกษาและช่วยเหลือกันโดยตลอดเป็นทีมใหญ่ มีโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่าย 5 แห่ง อยู่ในส่วนของอำเภอต่างๆมีการเพิ่มสักยภาพโรงพยาบาลทุกแห่งสามารถดุแลผู้ป่วยโควิคได้ หากผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้นโรงพยาบาลเครือข่าย 5 แห่ง ก็ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ และถ้าหากอาการหนักมากโรงพยาบาลสุรินทร์ ก็มีความพร้อมที่จะดูแลรักษา นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนามขึ้นอีกครั้ง ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ที่ศูนย์ปฎิบัติธรรมวัดกลาง บ้านละเอาะ ตำบลเฉนียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 97 เตียง ไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อรองรับกรณีคนไข้ที่เกินขีดความสามารถของแต่ละแห่งมารวมไว้ โดยขณะนี้มีผู้เข้ารักษาแล้วจำนวน 22 ราย และให้แต่ละอำเภอเปิดโรงพยาบาลสนามรองรับได้อีก และมีโลค็อลคอรันทีน พื้นที่กักตัว ทุกระดับอำเภอ บางจุดมีระดับหมู่บ้าน โดยสรุปตั้งแต่เมษายน เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จังหวัดสุรินทร์พบผู้ป่วยสะสมแล้วประมาณ 500 กว่าราย และยืนยันว่าสถานการณ์ในขณะนี้เราสามารถควบคุมได้ ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังชาวสุรินทร์ทุกท่านทุกคนถ้าป่วยไข้ และอยู่ในภาวะที่ลำบากใจอยู่ ขอให้ท่านโทรประสาน 3 หมอของเรา ไม่ว่าจะเป็น อสม.ในพื้นที่ของท่าน หรือ หมอที่อยู่ รพ.สต. หมอที่อยู่ รพ.อำเภอแต่ละแห่ง ก็จะเป็นที่ปรึกาที่ดี รวมถึงอาจจะให้คำแนะนำในการเดินทาง รวมถึงการเข้าถึงการให้บริการรักษาในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ในส่วนของการฉีดวัคซีนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์จนถึงขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ 97 % ได้รับวัคซีนไปแล้ว ในกลุ่มอื่นๆกำลังเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ในการฉีดวัคซีนจะดำเนินการ 2 รูปแบบ ส่วนหนึ่งดำเนินการตามรูปแบบของกระทรวง เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มโรค ผุ้สูงอายุและผู้ลงชื่อไว้ในหมอพร้อม อีกกลุ่มคือกลุ่มที่เข้าถึงระบบวัคซีนลำบาก ก็จะมีการจัดเป็นอีเว้นขึ้น เพื่อให้กลุ่มเหล่านี้สามารถเข้าถึงได้ ปัจจุบันจังหวัดสุรินทร์สามารถฉีดวัคซีนได้ประมาณ 2 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งหากเต็มศักยภาพก็จะประมาณ 4 หมื่นต่อวัน ยอดปัจจุบันฉีดไปแล้วประมาณ 1 แสนราย ภายในเดือนนี้จากเดิมที่จะได้รับวัคซีน 7 หมื่นราย เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนรายแน่นนอน ภายในเดือนหน้าก็จะได้รับมาอีก 2 ถึง 3 แสนราย ซึ่งจะเร่งฉีดให้ครอบคลุมเป้าหมายทั้งหมดโดยเร็วรวมไปถึงกลุ่มที่เข้าถึงลำบากด้วย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์กล่าว