เมื่อวันที่ 5 ก.ค. รองศาสตราจารย์ ดร.นุรักษ์ กฤษดานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ (TSE) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีเหตุระเบิดภายในโรงงาน หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ในซอยกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการว่า โรงงานดังกล่าวผลิตโฟม และเม็ดพลาสติก มีสารสไตรีนโมโนเมอร์เป็นสารตั้งต้น ถังเก็บสารเคมีถูกไฟไหม้และระเบิด มีสารสไตรีน และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) ซึ่งสารสไตรีนโมโนเมอร์ตัวนี้ เป็นสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายทั่วไป ซึ่งเป็นสารที่มีกลิ่น หากมีความเข้มข้นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดอาการรบกวนทางตาได้ ซึ่งในอดีตเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ที่ประเทศไต้หวัน ประเทศอินเดีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่ารุนแรง ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ควรอพยพประชาชนไปในทิศทางเหนือลมหรือด้านข้างของทิศทางลม ซึ่งวันนี้โชคดีที่อากาศร้อน และควันลอยขึ้นไปด้านบนมีลมพัด แต่ลมอาจจะไม่ได้กระโชแรงมากนัก และการอพยพประชาชนไปในระยะรัศมี 5 กิโลเมตรจึงเป็นขั้นตอนความปลอดภัยแรกที่ควรทำ ซึ่งประชาชนเองควรรีบออกจากพื้นที่และสังเกตจากควันไฟ รวมถึงควรอาบน้ำล้างตัว และเปลี่ยนเสื้อผ้า ไม่ว่าจะสัมผัสหรือไม่ได้สัมผัสสารหรือควันก็ตาม และหากสามารถกลับเข้าพื้นที่ได้แล้ว ควรซัก และทำความสะอาดทุกอย่างในบ้าน เนื่องจากอาจมีสารเคมีที่ตกค้างสะสมอยู่ “เมื่อมีการเผาไหม้ ควันดำก็คือคาร์บอนมอนออกไซด์ ซึ่งไม่ดีอยู่แล้ว ส่วนไอของสไตรีนที่หลงเหลือจะก่อมะเร็งหรือไม่นั้น ยังไม่มีผลการทดลองที่ชัดเจนเพียงพอในมนุษย์ แต่จากการทดลองกับหนูทดลองพบว่าจะเกิดก้อนเนื้อไม่ดีที่ปอดของสัตว์ทดลองนั้น ส่วนสถานการณ์จะกลับสู่ปกติเมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ขณะนี้สิ่งที่ทำได้คือการลดอุณหภูมิของพื้นที่เผาไหม้ เพื่อลดการระเหยออกของสไตรีนโมโนเมอร์ที่เหลืออยู่ และเพิ่มเติมด้วยโฟม หรือเคมีดับเพลิง ส่วนควันหรือไอที่กระจายไปแล้วนั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ถ้าลมแรง ไม่เกิน 5-7 วันจะทำให้ความเข้มข้นลดลงได้ต่ำเพียงซึ่งน่าจะกลับคืนสู่สภาวะปกติได้”