เกษตรดึงมือทหารกู้วิกฤติผลผลิตเกษตรกรล้นตลาด ช่วยรับซื้อผลผลิต–สนับสนุนพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตทางการเกษตร นำร่องหน้าค่ายทหาร-หน่วยงานในสังกัด 42 แห่ง 25 จังหวัดเป็นตลาดซื้อ-ขายสินค้าเกษตร หวังแบ่งเบาความเดือดร้อนเกษตรกรช่วงวิกฤต
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019(โควิด-19)ที่ต่อเนื่องมาถึงระลอก 3 ส่งผลกระทบให้ผลผลิตเกษตรที่กำลังจะทยอยออกสู่ตลาดทั้งไม้ผล ไม้ดอก และพืชผักต่างๆ ไม่สามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศได้ อีกทั้งภาคธุรกิจและสถานบริการหลายแห่งปิดตัวลงทำให้ลดจำนวนการสั่งซื้อสินค้าเกษตรลง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรปีนี้ของไทยทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นผลผลิตปศุสัตว์ ประมง ผัก ผลิตภัณฑ์นม ไข่ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และผลผลิตทางการเกษตรรวมไปถึงผลไม้ตามฤดูกาลประสบปัญหาล้นตลาด ราคาตกต่ำลงอย่างมาก ทั้งหมดจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเร่งหามาตรการและช่องทางตลาดใหม่ๆเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทยให้รอดพ้นภาวะวิกฤติช่วงนี้ไปให้ได้
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯได้ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผนึกกำลังในการคิดค้นมาตรการและสร้างกลไก เครือข่ายทางการตลาดใหม่ๆที่สอดคล้องกับภาวะวิกฤติโควิดและความเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งการบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตรไทยให้อยู่รอดแบบยั่งยืน มีการกระจายสินค้าเกษตรสู่ตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญล่าสุดคือ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงกลาโหม ในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรตามความต้องการและศักยภาพของหน่วย เช่น ผลผลิตปศุสัตว์ ประมง ผักและผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์นม ไข่ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอื่นๆ เป็นต้น และการสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้ข้าราชการทหารและครอบครัว รวมถึงประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ มีโอกาสได้เข้าถึงผลผลิตทางการเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรม
ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือฯจะมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดในระดับพื้นที่ร่วมกันสำรวจความต้องการรับซื้อและความพร้อม/ศักยภาพพื้นที่ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยเบื้องต้นจะมีการนำร่องจำนวน 42 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 25 จังหวัด
“สำหรับตัวอย่างสินค้าผลผลิตทางการเกษตรที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ในช่วง 6 เดือนนี้ (กรกฎาคม-ธันวาคม 2564) ได้แก่ ผลไม้-ลำไยสด มะม่วงมหาชนก มะม่วงเขียวมรกต แก้วมังกร พืชผัก-พริก กระเทียม กะหล่ำปลี สินค้าปศุสัตว์-ไข่ไก่ ไข่เป็ด และสินค้าประมง-กุ้งขาวแวนนาไม กุ้งก้ามกราม ปลากะพง เป็นต้น โดยได้มอบหมายกรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมหม่อนไหม กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จัดทำข้อมูลผลผลิตทางการเกษตร ในปี 2564 ที่ประสงค์ให้กระทรวงกลาโหมรับซื้อและจัดจุดจำหน่ายและมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักจัดทำข้อมูลและแผนปฏิบัติการที่จะดำเนินงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม”ดร.ทองเปลว กล่าว
ดร.ทองเปลว กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯได้เตรียมมาตรการในการบริหารจัดการตลาดสินค้าเกษตรทั้งในภาวะปกติและในช่วงภาวะวิกฤติของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19ไว้อย่างครบวงจรตั้งแต่ก่อนถึงฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาด อาทิ การจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ(ลิ้นจี่) การจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ การจัดทำโครงการพัฒนา Ecosystem เพื่อจำหน่ายผลไม้ไทยครบวงจรบนแพลตฟอร์มออนไลน์ การจัดหาช่องทางจำหน่ายและกระจายสินค้าด้านการเกษตรต่างๆ ให้กับเกษตรกร ได้แก่ ตลาด Modern trade เช่น Tesco Lotus, Big C และ Makro ตลาดกลางค้าส่งขนาดใหญ่ เช่น ตลาดไท ตลาดเฉพาะกิจ เช่น จำหน่ายสินค้าในรูปแบบค้าส่งร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นต้น แต่ด้วยแนวโน้มของสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ยังคงวิกฤติอย่างต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรฯจำเป็นที่จะต้องเร่งหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อขยายช่องทางตลาดในการระบายสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดให้มากที่สุดเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและเศรษฐกิจของประเทศ
ด้านนางสาวรัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ ประธาน Young Smart Farmer จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า การจับมือระหว่างกระทรวงเกษตรและกระทรวงกลาโหมในครั้งนี้ถือเป็นแนวคิดที่ดีที่ทหารช่วยซื้อผลผลิตของเกษตรกรและเปิดพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้เกษตรกรได้มีตลาดจำหน่ายและลดปัญหาความเดือดร้อนจากการหาตลาดไม่ได้ คนซื้อน้อยลง ซึ่งตนมองว่ากระทรวงกลาโหมมีหน่วยงานในสังกัดกระจายอยู่ทุกจังหวัด จึงถือเป็นตลาดที่ใหญ่มีครอบครัวทหารทั่วประเทศหลายล้านคนซึ่งจะช่วยระบายสินค้าเกษตรได้เป็นจำนวนมาก และหวังว่าในอนาคตกระทรวงเกษตรฯจะหาแนวทางในการจับมือกับกระทรวงอื่นๆเพิ่มเติม อาทิ กระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีหน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลทั่วประเทศหลายสิบล้านคน หรือแม้แต่โรงเรียนและสถานบันการศึกษา หากสามารถเข้าไปเจาะช่องทางตลาดหน่วยงานตรงเพิ่มเติมได้ ก็จะแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้อย่างมาก
สำหรับจังหวัดสระแก้ว ปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรที่สำคัญหลายชนิด เช่น พืชผักอินทรีย์ มะม่วง กระท้อน และลำไย โดยเกษตรกรได้มีการรวมตัวเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกผักเกษตรอินทรีย์จังหวัดสระแก้ว และกลุ่มเครือข่ายYoung Smart Farmer กว่า400 ราย มีผลผลิตออกสู่ตลาดปีละหลายพันตัน เช่น ผักอินทรีย์ มีผลผลิตประมาณ 5 ตัน/เดือน มะม่วง ผลิตปีละ 3 ครั้ง มีผลผลิตประมาณ 400-500 ตัน/รอบการผลิต กระท้อน 200 ตัน/ปี เป็นต้น ซึ่งก่อนเกิดวิกฤติมีตลาดจำหน่ายหลักๆ คือ ตลาดชุมชน ตลาดไท และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ส่วนมะม่วงก็ส่งเข้าโรงงานเพื่อแปรรูป แต่หลังจากเกิดวิกฤติโรงงานปิดและหยุดรับซื้อ ตลาดค้าส่งและห้างสรรพสินค้าก็สั่งซื้อน้อยลง ทำให้ผลผลิตล้นตลาดจำนวนมาก เลยหันมาเปลี่ยนช่องทางตลาดแบบขายปลีกแทนเพื่อประคองสถานการณ์ให้ผ่านวิกฤติในช่วงนี้ไปให้ได้
ทั้งหมดถือเป็นอีกหนึ่งความพยายามของกระทรวงเกษตรฯ ในการเดินหน้าสร้างมาตรการและสร้างเครือข่ายทางการตลาดใหม่ๆ ในการหาทางออกให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดจากภาวะวิกฤติต่างๆ รวมทั้งภาวะวิกฤติโควิด-19 ได้บรรเทาความเดือดร้อน ทั้งนี้ นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด ยังสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงานเกษตรจังหวัด และสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ทั่วประเทศได้โดยตรงอีกทางหนึ่งด้วย