ป๊อกป๊อก ต้นแบบสตาร์ทอัพยุคนิวนอร์มอล รวมร้านเด็ดเมนูดัง เสิร์ฟความอร่อยถึงบ้านไม่มีค่าส่ง “รองหัวหน้าพรรคกล้า” ชี้มีโอกาสเติบโตถึงยูนิคอร์น
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นักธุรกิจ สตาร์ทอัพ และผู้กล้าจ.ชุมพร ร่วมกัน จัดเสวนาออนไลน์ เพื่อรับฟังไอเดียจากนักธุรกิจรุ่นใหญ่ อดีตนายกสมาคมผู้ค้าปลีก วรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า และนักธุรกิจรุ่นใหม่ นายนัฐพงศ์ จารวิจิต ผู้พัฒนาแอพลิเคชั่น PokPok และเป็นผู้จุดประกายการใช้เทคโนโลยีการเสิร์ฟความอร่อยจากร้านดัง ถึงผุ้บริโภคโดยไม่มีค่าส่ง มาแบ่งปันประสบการณ์ ถึงการทำธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี เพื่อเป็นแนวทางและสร้างบันดาลใจให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่กำลังหาช่องทางและโอกาส ในช่วงที่ประเทศกำลังประสบภาวะวิกฤตโควิด จนหลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก
นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกล้า ให้แนวทางถึงการสร้างธุรกิจว่า การจะอัพเกรดผู้ประกอบการไทย จำเป็นต้องสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า นอกจากเหนือไปจากการขายวัตถุดิบพื้นฐานแต่เพียงอย่างเดียว เพราะจะไม่สามารถสู้กับกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ได้เลย การปรับตัวของผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ จึงมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ยังได้แนะนำกลยุทธ์การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จว่า จะต้องประกอบด้วยคนอย่างน้อย 3 คน คนแรกเชี่ยวชาญด้านธุรกิจการตลาด คนที่สองเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และคนที่สามเชี่ยวชาญด้านการเงิน ซึ่งโอกาสที่คนทั้งสามจะเห็นตรงกันแบบลงรอย เป็นไปได้ยากมาก ดังนั้นคนที่เป็นซีอีโอ จะต้องมีทักษะในการบริหารคนค่อนข้างสูง จึงจะประสบความสำเร็จได้ แต่ถ้าไม่มีองค์ประกอบทั้ง 3 ก็สามารถทำธุรกิจได้ แต่เริ่มมีจุดอ่อน
นายวรวุฒิ กล่าวว่า เมื่อกลางปี 2563 พรรคกล้าได้จัดโครงการ “กล้าสตาร์ทอัพ” เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้นำเสนอไอเดียต่อยอดเป็นธุรกิจ ซึ่ง ไอเดียการพัฒนาแพลตฟอร์ม “PokPok” ที่ต่อยอดมาจากรถพุ่มพวงมาเป็นรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ เพื่อนำอาหารจากร้านดังไปจำหน่ายให้กับกลุ่มบริโภคกลุ่มเป้าหมาย แม้จะเริ่มดำเนินการไม่นานแต่ผลตอบรับค่อนข้างดี และถ้ามีระบบการบริหารจัดการที่ดี และขยายผลไปยังต่างจังหวัดได้ โอกาสที่จะเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นมีสูงมาก
“ไอเดียนี้ทำให้สตรีทฟู้ด ตื่นตัว และเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทย ที่ทำให้คนตัวเล็ก ลืมตาอ้าปากได้ ผิดกับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่อื่น ซึ่งเป็นของต่างชาติ เงินกำไรไม่ได้อยู่ในประเทศไทย นี่คือเหตุผลที่เราทำโครงการกล้าสตาร์ทอัพขึ้นมา และหากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ก็จะจัดอีก และทุกทีมที่ได้รับการพิจารณา ทางทีมงานของพรรคกล้า ก็จะเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ”รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าว
ด้านนายนัฐพงศ์ เจ้าของธุรกิจ pokpok กล่าวว่า ไอเดียดังกล่าวเกิดจากสถานการณ์โควิด ที่คนออกไปจับจ่ายซื้อหาอาหารกันได้ยากลำบาก จึงทำให้เห็นโอกาสในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม PokPok (ป๊อกป๊อก) ขึ้นมา โดยต่อยอดจากส่วนผสมระหว่าง รถพุ่มพวง ที่วิ่งตระเวนขายของไปตามที่ต่างๆ แต่ภายในรถมีแต่วัตถุดิบ ส่วนรูปลักษณ์จะเป็นเหมือน ฟู้ดทรัค และเพิ่ม ตู้อุ่นร้อน ตู้เย็น เพื่อให้อาหารมีความสดใหม่ เหมือนออกจากร้าน ขณะนี้เปิดดำเนินการได้กว่า 2 เดือนแล้ว ผลตอบรับดีมาก จึงได้เพิ่มจำนวนรถวิ่งจาก 1 คัน เป็น 4 คัน กระจายไปยังเส้นทางและทำเลต่าง ๆ และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ จะเพิ่มจำนวนรถให้เป็น 20 คัน จุดเด่นของป๊อกป๊อก คือเราไม่มีค่าส่ง โดยไปรับอาหารจากร้านอร่อย ตามที่ต่างๆ ในราคาต้นทุน จัดส่งตามออเดอร์ที่จองผ่าน แอพลิเคชันในราคาที่บวกเพิ่ม 10-15 บาท ซึ่งต่ำกว่าค่าส่งในแพลตฟอร์มดิลิเวอรี่อื่น และหากลูกค้าอยู่ในเส้นทางที่เราผ่าน ก็จะสามารถให้บริการได้ โดยไม่จำกัดระยะทาง กำไรต่อวัน ต่อคัน เมื่อหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้วเหลือประมาณ 1,000-1,500 บาท
“ผู้บริโภคสามารถโหลดแอ็พ PokPok แล้วสามารถสั่งอาหารได้ตามรายการล่วงหน้าก่อนเวลาที่เราจะไปรับอาหารจากต้นทาง โดยที่เราจะไม่สต๊อคสินค้า สมมุติออเดอร์ 50 ชุด เราก็อาจจะเพิ่มมาประมาณ 10-20 ชุด หากมีคนสนใจสั่งซื้อเราก็จะจำหน่ายแค่หมด จะไม่มีการย้อนกลับไปรับของอีก แต่ลูกค้าสามารถสั่งอาหาร ในร้านถัดไปในเส้นทางที่เราจะสามารถไปรับมาได้ เราบริการกึ่งดิลิเวอรี่ จึงแนะนำให้ลูกค้าจองล่วงหน้า ตอนนี้มีลูกค้าจากหลายจังหวัดก็สนใจ โหลดแอพ และสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องรอให้ผมขยายธุรกิจก่อน ตอนนี้ขอให้บริการเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร อย่างน้อย 10 คัน ครอบคลุมทุกเส้นทางก่อน”นายนัฐพงศ์ กล่าว