สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบแห่งประเทศไทยกังวลโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ที่กระทรวงการคลังกำลังจะเร่งหาข้อสรุปก่อนเริ่มใช้จริง 1 ต.ค.64 หวั่นบุหรี่เถื่อนทะลักท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ระบาดครั้งเลวร้ายที่สุด ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ ยสท. พนักงาน ชาวไร่ยาสูบ ร้านค้าปลีกกว่า 1 ล้านชีวิต ด้านภาคีชาวไร่ยาสูบเผยเงินชดเชยรายได้ให้ชาวไร่ยาสูบที่ถูกตัดโควตาไปเมื่อปี 62 ยังไร้วี่แวว นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยาสูบแห่งประเทศไทย แสดงความกังวลถึงปัญหาการค้าบุหรี่หนีภาษีที่กำลังแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งบุหรี่ปกติและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเข้ามาทดแทนบุหรี่ถูกกฎหมายมากขึ้นด้วยแรงจูงใจด้านราคาที่แตกต่างกันเป็นเท่าตัว และยังได้เปรียบการขายบุหรี่ถูกกฎหมายเพราะสามารถขายผ่านช่องทางขายออนไลน์ที่มีคนเข้าถึงได้ง่ายไม่เว้นแม้แต่เด็กและเยาวชน ตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานสภาวะสังคมไทยของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลที่การยาสูบฯ เคยเปิดเผยไปก่อนหน้านี้ ในช่วงปี 2563 ประมาณการณ์ว่าบุหรี่หนีภาษีในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นราวร้อยละ 30 แม้ไม่ได้มีการขึ้นภาษีใด ๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะสภาพเศรษฐกิจและรายได้ของประชาชนที่ลดลงมากอย่างรวดเร็วจากการระบาดของโควิด-19 ในปีแรก ส่วนในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่สองของการระบาดและสถานการณ์ยังย่ำแย่ หากขึ้นภาษีบุหรี่วันที่ 1 ต.ค.64 อีกเท่าตัว เชื่อว่าจะทำให้บุหรี่หนีภาษีซึ่งมีราคาซองละ 20 บาท ขายดีกว่าเดิมแน่นอน และที่น่ากังวลคือบุหรี่หนีภาษีจำพวกบุหรี่ปลอมตราสินค้าที่ปิดแสตมป์สรรพสามิตปลอม ผู้บริโภคบุหรี่ตรวจสอบเองได้ยาก แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐถ้าดูผิวเผินก็แทบไม่แตกต่างกับสินค้าถูกกฎหมาย ต้องใช้วิธีตรวจพิเศษจึงจะดูออก กำลังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในปีนี้ ซึ่งมีบุหรี่ปลอมยี่ห้อของการยาสูบฯ ด้วยตามที่เคยปรากฏในข่าวจับกุมที่ จ.เพชรบุรี แต่เชื่อว่ามีอีกจำนวนมากที่ซื้อขายกันอยู่ทั่วไปยังจับกุมไม่ได้ “ปัญหาบุหรี่หนีภาษีส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง กระทบคนในห่วงโซ่อุปทานยาสูบถูกกฎหมายไม่ต่ำกว่า 1 ล้านชีวิต ที่สำคัญการแก้ไขปัญหาทำได้ยาก ไม่ใช่แค่สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปปราบปรามก็หมดปัญหา จากที่เห็นมาแล้วในปี 2563 เจ้าหน้าที่รัฐเข้มงวดการเข้าออกจังหวัดและประเทศ แต่ก็ยังมีบุหรี่หนีภาษีเพิ่มขึ้นมาก จึงอยากให้กระทรวงการคลังคำนึงถึงปัญหานี้ด้วยเมื่อพิจารณาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ หากมีการปรับขึ้นภาษีบุหรี่จนสูงเกินไป บุหรี่เถื่อนที่ยังขายราคาเดิมเพราะไม่ได้เสียภาษีอะไรต้องขายดีเพิ่มขึ้น สุดท้ายผลประกอบการของ ยสท. ต้องได้รับผลกระทบ และส่งผลเป็นลูกโซ่ถึงทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมยาสูบ ไม่อยากให้พนักงานการยาสูบฯ กว่า 2 พันกว่าครอบครัว รวมทั้งชาวไร่ยาสูบกว่า 100,000 ชีวิต และร้านค้าปลีกขายบุหรี่กว่า 500,000 ร้านทั่วประเทศ ต้องขาดรายได้ หมดสิ้นอาชีพ ทั้ง ๆที่รัฐก็ไม่ได้รายได้เพิ่มขึ้นหรือลดการบริโภคบุหรี่ได้ตามเป้าหมาย แต่ขบวนการค้าขายบุหรี่หนีภาษีกลับได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆ” นายสุระ พิมสาร ตัวแทนภาคีชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้บ่มฯ จังหวัดเชียงราย-พะเยา เผยว่า จนถึงขณะนี้ ยังไม่ได้รับข่าวความคืบหน้าเรื่องการจ่ายเงินชดเชยรายได้ จากการที่ชาวไร่ถูกการยาสูบแห่งประเทศไทยตัดโควตารับซื้อใบยาสูบของปี 2562 จำนวน 159 ล้านบาท และในอีกไม่ถึง 3 เดือนข้างหน้าจะมีกำหนดการขึ้นภาษีบุหรี่อีกเท่าตัวเป็นร้อยละ 40 หากกระทรวงการคลังไม่รีบสรุปเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ชาวไร่ยาสูบกำลังกลัวว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงซ้ำซ้อนที่อาจหนักกว่าเมื่อครั้งปรับโครงสร้างภาษีเมื่อปี 2560 “เศรษฐกิจภาคการเกษตรในตอนนี้ถอยไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการจ่ายหนี้ธนาคารเลย ตอนนี้แค่เอาตัวให้รอดไปวันๆก็ดีถมไปแล้ว รายได้จากการขายใบยาสูบเมื่อต้นปีก็หายไปครึ่งต่อครึ่ง เพราะโดนลดโควตามา 3 ปีซ้อนแล้วตั้งแต่ขึ้นภาษีบุหรี่เมื่อปี 2560 รอความหวังจากเงินชดเชยที่ก่อนหน้านี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เคยรับปากไว้แล้วว่ารัฐบาลนี้จะดูแลเรื่องนี้ให้แน่นอน แต่เงียบหายไป อยากให้กระทรวงการคลัง และนายกฯช่วยเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจ่ายเงินชดเชยให้พวกกระผมภายในปีงบประมาณ 2564 และขอวิงวอนให้ช่วยรีบแก้ไขปัญหาภาษีบุหรี่ โควิดยังระบาดหนักในปีนี้ ขออย่าให้มีการขึ้นภาษีบุหรี่เลย อย่ามาซ้ำเติมชาวไร่ยาสูบกว่า 30,000 ครอบครัว ให้ต้องน้ำตาตกซ้ำรอยอีกเลย พวกกระผมไม่อยากเห็นข่าวชาวไร่ยาสูบฆ่าตัวตายหนีปัญหาแบบปีที่แล้วอีก”