พ่อเมืองแปดริ้วสักการะ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย เพื่อเชิดชูเกียรติและเผยแพร่ประวัติและเกียรติคุณรวมทั้งจัดแสดงผลงาน ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
วันนี้ (5 ก.ค.64) ที่บริเวณอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร( น้อย อาจารยางกูร) อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานประกอบพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด สักการะพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ประจำปี 2564 พร้อมด้วย นายจิตติน ตั้งกงพานิช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดฯ นางอุทัย พัฒนพิชัย วัฒนธรรมจังหวัดฯ นายอัมรินทร์ คอมันตร์ ทายาทของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ร่วมพิธี จากนั้นเดินทางไปณ.อาคาร เรือนรับรอง “พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา" โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นำข้าราชการ และประชาชนประกอบพิธีทางศาสนา วางพวงมาลาสักการะหน้ารูปหล่อพระยาศรีสุนทรโวหารฯ ชมนิทรรศการ ในหอเชิดชูเกียรติพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และสาธิตการทำอาหารเมนู “ยำญวณ”อาหารจากนิพนธ์ผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหารฯ ซึ่งสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา หน่วยงาน องค์กร เครือข่ายต่างๆในพื้นที่ร่วมกันจัดงานฯ
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ถือกำเนิดจากสามัญชนในพื้นที่อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2365 ท่านเป็นชาวแปดริ้วโดยกำเนิดและเป็นต้นสกุล "อาจารยางกูร" โดยได้รับพระราชทานนามสกุลนี้จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ระหว่างที่ท่านมีชีวิตอยู่ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รวม 3 แผ่นดิน ท่านได้ทำคุณประโยชน์ทางภาษาไทย จนได้รับการยกย่องให้เป็นบรมครู เป็นปูชนียบุคคลในทางภาษาไทย โดยริเริ่มแต่งบทเรียนภาษาไทยที่คนทั่วไปรู้จักดี คือ มูลบทบรรพกิจ วาหะนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน พิศาลาการันต์ และไวพจน์พิจารณ์ รวมทั้งบทสวดสรรเสริญ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา ครู อาจารย์ ซึ่งสถานศึกษาต่างๆยังใช้ส่งจนกระทั่งทุกวันนี้ นับได้ว่าท่านเป็นชาวแปดริ้วคนหนึ่งที่มีความรู้ความสามารถ ทำคุณประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประเทศชาติอย่างสูง