วันที่ 5 ก.ค.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงประเด็นที่มีเอกสารจากที่ประชุมเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดไฟเซอร์ที่จะเข้ามาในประเทศไทยจากการบริจาคของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า จะมีการนำมาฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อการกระตุ้นเข็มที่ 3 ว่า วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส เกิดจากการประสานงานระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศ เงื่อนไขการตกลงต่างๆ อยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งต้องแจ้งมายังสธ. ที่เป็นผู้นำมาใช้ เพื่อให้เราปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้นๆ เช่นที่เราได้รับการบริจาคจากประเทศญี่ปุ่น ก็ห้ามนำไปขายต่อ เบื้องต้นวัคซีนไฟเซอร์ ไม่มีเงื่อนไข แต่เราก็ต้องนำวัคซีนมาฉีดให้เหมาะสม ประเทศไทยมีชาวต่างชาติจำนวนมาก เพื่อสร้างความปลอดภัยให้คนในประเทศ เราก็พร้อมจะฉีดให้เขาด้วย
นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนเอกสารดังกล่าว ก็เป็นเอกสารภายใน จากการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ เราไม่ควรที่จะไปวิพากษ์ วิจารณ์เพราะเป็นเรื่องของวิชาการ ตราบใดที่ยังไม่ได้มาเป็นขั้นตอนปฏิบัติ ก็ยังไม่มีผลอะไร การประชุมคณะกรรมการวิชาการ ก็มีอาจารย์แพทย์ ซึ่งแต่ละท่านเสียสละเวลาเข้ามา แม้ไม่ได้เป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวง หรือลูกจ้างอะไร แต่ท่านสละตัวเองเข้ามาเพื่อให้ความเห็นของตนเอง ซึ่งก็จะมีการบันทึกไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นแนวปฏิบัติ เพราะหลังจากนั้นต้องมีอีกหลายขั้นตอน ที่จะตกลงกันว่าจะปฏิบัติในแนวทางไหน
เมื่อถามว่า เป็นข้อมูลที่เป็นข้อสรุปแล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น ว่าแต่ละท่านมีความเห็นอย่างไร เขาก็รวบรวมมา นี่เป็นที่มาของการมีคณะกรรมการ เราจึงไม่ได้ให้ใครคนใดคนหนึ่งตัดสินใจ ส่วนจะนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดเป็นเข็มที่ 3 ให้บุคลากรแพทย์หรือไม่ เป็นเรื่องวิชาการ ตนให้ความเห็นไม่ได้ รอให้คณะกรรมการวิชาการตกผลึกออกมา และตนก็พร้อมสนับสนุน เช่น ไฟเซอร์ต้องใช้น้ำเกลือผสมเพิ่มในการฉีด ตนก็จะจัดหางบประมาณในส่วนนี้มารองรับ
“ถูกต้องแล้ว กระบวนการทั้งหลายถูกต้องหมด แล้วตรงนั้นไม่ใช่บทสรุปที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติ ยังต้องมาเข้าคณะกรรมการโรคติดต่อ เข้าคณะกรรมการวัคซีน ซึ่งไม่รู้ว่าตรงนั้น จะต้องถกเถียงกันอย่างไรอีก” นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามต่อว่า มีข้อความในเอกสารระบุว่า หากใช้เป็นเข็มที่ 3 ให้บุคลาการแพทย์/ด้านหน้า ก็จะถือว่าเป็นการยอมรับว่าวัคซีนซิโนแวค มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ นายอนุทิน กล่าวว่า ตรงนั้นต้องสอบถามไปยังอาจารย์เหล่านั้น แต่ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์กันไปโดยที่ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติหรือผลบังคับใช้
“ขอให้คนที่มีหน้าที่ได้ทำงาน เวลาวิพากษ์ วิจารณ์อะไรในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มันก็พูดได้หมด แต่เวลาทำงาน ทุกคนมุ่งมั่นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชนให้มากที่สุด เขามีความเห็นอย่างไร ประโยชน์ก็ตกอยู่กับประชาชน วัคซีนซิโนแวค ก็ฉีดคนละ 2 เข็มตามที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ก็อยู่เหนือเกณฑ์ อย่างเช่นที่ภูเก็ต ผลการศึกษาก็พบว่า มีประสิทธิภาพถึง 80% ที่เมืองจีน ฉีดทั้งประเทศ ผู้นำประเทศก็ฉีด ก็ไม่เห็นว่ เขาจะมีผลอะไร เราก็ทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้” นายอนุทิน กล่าว