นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิ.ย.64 อยู่ที่ 99.93 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 1.25% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.89%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เดือนมิ.ย.64 อยู่ที่ 100.47 เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 0.52% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.27% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิ.ย.เพิ่มขึ้นไม่มากเท่าที่ควรจะเป็น เพราะยังมีมาตรการช่วยเรื่องค่าครองชีพ เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ สินค้าอาหารสดบางชนิดมีราคาลดลง ส่วนสินค้ากลุ่มพลังงงานยังขยายตัวต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลง
โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย.64 เพิ่มขึ้น 1.25% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวลง 2.44% จากเดือน พ.ค.64 เป็นผลจากการสูงขึ้นของสินค้าในกลุ่มพลังงาน และการสูงขึ้นของอาหารสดบางประเภท โดยเฉพาะเนื้อสุกร ไข่ไก่ ผลไม้สด และน้ำมันพืช
ขณะที่มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา และการลดลงของอาหารสดบางประเภท โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผักสด เป็นปัจจัยทอนที่ส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า สำหรับสินค้าในหมวดอื่นๆยังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปริมาณผลผลิต และความต้องการในช่วงสถานการณ์ที่ยังมีการระบาดของโควิด-19
นายวิชานัน กล่าวอีกว่า การขยายตัวของเงินเฟ้อในเดือนมิ.ย.นี้ นอกจากปัจจัยด้านพลังงานและอาหารสดบางชนิดแล้ว ยังมีสัญญาณที่ชี้ว่าความต้องการสินค้าหลายชนิดเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและนำเข้า อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิต มูลค่าการส่งออก อัตราการใช้กำลังการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า และยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถจักรยานยนต์ ขณะที่รายได้เกษตรกรก็ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิด
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ยังคงได้รับอิทธิพลจากราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวในหลายประเทศ ส่งผลดีต่อการส่งออกและภาคการผลิตที่ต่อเนื่องกับการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย สนค.คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 3 ปีนี้ จะเพิ่มขึ้น 2.13% ส่วนไตรมาส 4 เพิ่มขึ้น 2.37%
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศยังเป็นข้อจำกัดที่ชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อรายได้และการบริโภคโดยรวม ประกอบกับโอกาสที่ภาครัฐจะมีการใช้หรือขยายมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐอีกครั้ง โดยเฉพาะการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อดังกล่าว จะเคลื่อนไหวในกรอบที่จำกัด และไม่เกินกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1.0 - 3.0%
ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา หลายตัวแปรสำคัญมีความผันผวนไม่ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ราคาน้ำมันตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะ GDP ที่หลายหน่วยงานมีการปรับประมาณการในปีนี้ลดลง กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ปรับสมมติฐานการประมาณการอัตราเงินเฟ้อใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ในส่วนของกรอบเงินเฟ้อในปี 64 ยังคงไว้เท่าเดิมที่ 0.7-1.7% หรือเฉลี่ยที่ 1.2%
โดยสมมติฐานใหม่ของปี 64 เป็นดังนี้ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) จะอยู่ที่ 1.5-2.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบ จะเคลื่อนไหวในช่วง 60-70 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน เคลื่อนไหวในช่วง 30-32 บาท/ดอลลาร์ คาดว่าเงินเฟ้อทั้งปี 64 จะอยู่ในกรอบ 0.7-1.7% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้ง ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้จะสูงกว่าระดับ 1.5% แต่ก็จะไม่สูงเกินไปกว่า 1.7% ตามกรอบที่คาดไว้