เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับข้อเสนอการรับมือ "วิกฤตเตียงไม่พอ" สืบเนื่องจากทางพรรคกล้า โดย “กลุ่มกล้าอาสาหาเตียง” ได้ประสานงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดหาเตียงมาตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา และพบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดวิกฤตเตียงอย่างหนัก การประสานงานเป็นไปอย่างยากลำบาก มีผู้รอเตียงนานหลายวันจนเสียชีวิตเนื่องจากไม่ได้รับการรักษา พรรคกล้าจึงได้เสนอ 6 มาตรการเป็นแนวทางให้รัฐบาลพิจารณาปรับปรุง เพื่อการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด ได้เข้ารับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้แก่ 1.ส่งต่อคนไข้ไปต่างจังหวัด แบ่งเบาส่วนกลาง ระบบถึงปลายทางต้องพร้อม 2.เพิ่มคนรับสาย/ตอบไลน์ พร้อมข้อมูลครบถ้วน 3.สายด่วนควรโทรฟรี ทุกเบอร์ ทุกเครือข่าย ทั่วประเทศ 4.ลงทะเบียนรักษาที่บ้านเกิดอย่างเป็นระบบและมีงบประมาณดูแลการเคลื่อนย้าย 5.ฉีดวัคซีนและจัดอุปกรณ์ป้องกันให้กับกลุ่มอาสาสมัคร กู้ภัย และมูลนิธิ 6.มีระบบกักตัวที่บ้าน พร้อม น้ำ อาหาร ยาต้านไวรัส หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เครื่องวัดออกซิเจนต้องถึงผู้ป่วย นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า จากการลงมือทำจริงของกลุ่ม 'กล้าอาสา-หาเตียง’ พบว่า เบอร์ call center ของรัฐทุกเบอร์โทรติดยากมาก โดยเฉพาะ 1668 ที่เป็นเบอร์หลัก บางครั้งต้องรอสายนานกว่า 1 ชั่วโมงจนสายหลุดไปโดยไม่มีผู้รับสาย ส่วนในกรณีที่มีเจ้าหน้าที่รับสาย ก็แจ้งแต่เพียงว่าจะติดต่อกลับ แต่ก็ไม่มีการติดต่อกลับไปแต่อย่างใด ทำให้ผู้ป่วยเกิดความกังวลเพราะไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป จึงขอเสนอให้ รัฐเพิ่มเจ้าหน้าที่ call center และบุคลากรทางการแพทย์ที่จะรับสายให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้หากขาดความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการระบบ ให้ขอคำแนะนำจากผู้ให้บริการ call center รายใหญ่ เช่น ทรูมูฟ เอไอเอส ดีแทค และขอให้พัฒนาระบบติดตามผล ป้องกันการตกหล่น โดยรวมฐานข้อมูลของทุกเบอร์ call center เข้าด้วยกัน ส่วนช่องทางไลน์ @sabaideebot ที่กระทรวงสาธารณสุขทำขึ้นมา เพื่อให้ผู้ป่วยส่งข้อมูลผ่านช่องทางดังกล่าวนั้น ประชาชนร้องเรียนว่า จากการส่งไลน์แจ้งเคสผู้ป่วยเพื่อขอรับความช่วยเหลือ แต่ไม่มีการตอบกลับ บางครั้งส่งข้อมูลผ่านหลายวันก็ยังไม่อ่าน จึงขอเสนอให้ ปรับปรุงระบบ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบริหารจัดการ แต่อย่าใช้ช่องทางนี้เป็นทางเลือกหลัก เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อยที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ดังจะเห็นจากโครงการเยียวยาของรัฐซึ่งมีผู้ไปต่อคิวหน้าธนาคารเพราะลงทะเบียนออนไลน์ไม่เป็นอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบว่า ระบบการตรวจคัดกรองเชิงรุกของทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนรวมถึงแล็ปเอกชนต่าง ๆ หลายรายที่ไม่ได้แจ้งข้อมูลผู้ตรวจพบเชื้อมายังฐานข้อมูลส่วนกลาง จึงขอเสนอให้ ศบค.ออกนโยบายบังคับให้ทุกหน่วยงาน แจ้งข้อมูลผู้ตรวจพบเชื้อเข้ามายังฐานข้อมูลส่วนกลางอย่างเคร่งครัด เพื่อเข้าสู่ระบบรอคิวโดยอัตโนมัติ ไม่ใช่ให้ผู้ติดเชื้อต้องมาโทรลงทะเบียนจองคิวเตียงอีก เพราะผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนจองคิวดังกล่าวได้ และในส่วนของ ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกับผู้ตรวจพบเชื้อ หากเป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็ก จะไม่สามารถออกไปตรวจได้ และไม่มีหน่วยงานใดๆมา SWOP ให้ที่บ้าน จนหลายรายนอนเสียชีวิตคาบ้าน จึงขอเสนอให้ผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ติดเชื้อ และเข้าข่ายเป็นผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือเด็กเล็ก หากไม่มีผู้พาไปตรวจ สามารถแจ้งไปยังหน่วยงานของรัฐเพื่อขอให้มา SWOP ที่บ้านได้ทันที โดยรัฐอาจให้สาธารณสุขเขตเป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่ของตน นายกรณ์ กล่าวด้วยว่า ในกรณีผู้ป่วยสีเหลืองเข้ม หรืออาการทรุดหนักเฉียบพลัน เมื่อโทรไปประสานขอรถฉุกเฉิน มักจะถูกประเมินว่าอาการยังไม่หนักพอ ซึ่งหลายเคสเป็นการประเมินที่ผิดพลาด จนต้องเสียชีวิต จึงขอเสนอว่า เมื่อได้รับการประสานว่าเป็นเคสอาการหนัก หากปล่อยให้ศูนย์เอราวัณเป็นผู้รับผิดชอบเพียงหน่วยงานเดียวกำลังจะไม่พอ ดังนั้นควรให้สาธารณสุขเขต และทีมอาสากู้ภัยซึ่งมีอยู่แล้วในทุกเขต เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ในการลงพื้นที่ประเมินอาการและเข้าช่วยเหลือเชิงรุกอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ รัฐบาลอาจจัดหาเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว มอบให้แก่ผู้ตรวจพบเชื้อทุกรายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง/กลุ่มสีเหลือง เพื่อวัดค่าออกซิเจนอย่างสม่ำเสมอ และใช้ผลวัดดังกล่าวยืนยันอาการเมื่อร้องขอรถฉุกเฉิน ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการประเมินที่ผิดพลาดจนมีผู้เสียชีวิตเช่นที่ผ่านมา “หากข้อเสนอของเราจะเป็นประโยชน์ในทางใดก็ตาม ผมและทีมงานกล้าอาสาทุกคน ขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีนำข้อเสนอเหล่านี้ ซึ่งเป็นข้อเสนอโดยตรงจากการลงมือทำหน้างานไปปรับใช้โดยด่วน พวกเราจากพรรคกล้าพยายามทุกทางในการบรรเทาความเดือนร้อนของผู้คนเท่าที่เราจะทำได้ในกำลังที่เรามี และจะทำหน้าที่ของเราเพื่อช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตฉุกเฉินต่อไป”หัวหน้าพรรคกล้า กล่าว