ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในประเทศไทย เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากการดำเนินงานของกิจการมุ่งเน้นไปในทาง สังคม สิ่งแวดล้อม และการเงินไปพร้อมๆกัน โดยเป้าหมายในการสร้างรายได้มีขึ้นเพื่อ เพิ่มผลประโยชน์ของสังคมหรือสิ่งแวดล้อม … ในวันนี้เป็นที่น่ายินดีว่ามีคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งได้มองเห็นความสำคัญของ “กิจการเพื่อสังคม” จึงเดินหน้าสานฝันของตัวเองในบทบาท Global Citizen เพื่อมุ่งหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างยั่งยืน มินนี่ - แพรววนิต ศรีชอบธรรม ทูตแห่งวิทยาลัยโลกคดีศึกษา - นักศึกษาหลักสูตรนานาชาติ Global Studies and Social Entrepreneurship (GSSE) คณะวิทยาลัยโลกคดีศึกษา School of Global Studies มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ตอนเด็กๆเป็นคนที่ขี้อาย แต่ลึกๆแล้วแอบมีนิสัยขี้สงสารและชอบศึกษาเรื่องจิตวิทยา แต่พอเรียนมัธยมปลายก็คิดที่จะเรียนด้านการบริหารธุรกิจเพราะถนัดทางด้านการจัดการ จึงต้องเลือกระหว่าง “คณะที่ชอบ” กับ “คณะที่เราถนัด” จนได้พบว่ามีหลักสูตรนานาชาติ Global Studies and Social Entrepreneurship (GSSE) ซึ่งสอนการเรียนรู้ในเรื่องการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนและการทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ควบคู่ไปด้วย คือเป็นการบริหารธุรกิจไปพร้อมกับการได้ช่วยเหลือสังคมด้วย ซึ่งถือว่า “กิจการเพื่อสังคม” เป็นเทรนด์ใหม่และรัฐบาลให้การสนับสนุนด้วย
จุดเด่นของหลักสูตร GSSE คือการสอนให้นักศึกษา “ทำเป็น” ไม่ใช่ “จำเป็น”
นักศึกษาที่เข้ามาเรียนต่างมีความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคม การสอนจึงไม่ได้เป็นลักษณะการท่องจำเพื่อสอบ แต่ให้นักศึกษาได้มีโอกาสในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมจริงในสิ่งที่ตัวเองสนใจตั้งแต่ชั้นเรียนปีที่ 1 เช่น ด้านการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อมสาธารณะสุข และการต่อต้านคอร์รัปชั่น นอกจากนี้ยังมีอีก 3 ด้านเด่นหลักๆของ GSSE คือ 1.นวัตกรรม 2. ความยั่งยืน 3.การเป็นผู้นำ ด้วยเหตุนี้ GSSE จึงสอนวิชาที่พัฒนาด้าน soft skill ด้วย เช่น การพูดในที่ชุมชน การทำงานเป็นทีม การคิดอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างภาวะการเป็นผู้นำที่รู้รอบด้าน มีทัศนคติรู้ทันโลก (global mindset) สามารถคิดวิเคราะห์ข้อมูลจากหลากหลายแหล่งเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ จนนำไปสู่การเป็นผู้นำที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้” มินนี่กล่าวเสริม เมื่อถามถึงตัวอย่างของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนมินนี่กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปศึกษาความเป็นอยู่ของชุมชนแห่งหนึ่ง ซึ่งพบว่าคนในชุมชนขาดความรับผิดชอบในการดูแลสิ่งแวคล้อม โดยการทิ้งขยะลงในคลอง ในขณะที่คนอื่นในชุมชนเดียวกันกลับใช้คลองนั้นในการอาบน้ำและบริโภค ปัญหานี้ส่งผลไปถึงด้านสุขอนามัยของคนในชุมชน บางคนอาจคิดแก้ไขด้วยการบอกกล่าวตักเตือน แต่สำหรับนักเปลี่ยนแปลงสังคมจะต้องเข้าไปแก้ปัญหาเพื่อหวังให้เกิดความยั่งยืน โดยมินนี่และทีมได้ไปให้ความรู้ด้านสุขอนามัยที่ดีแก่เด็กๆในโรงเรียน และนำอุปกรณ์ในการทำสบู่ไปสอนเด็กๆด้วย เพื่อให้เด็กๆเพลิดเพลินและจำได้ว่าสุขอนามัยที่ดีสำคัญอย่างไร หรือเด็กบางคนอาจนำไปต่อยอดหารายได้จากการผลิตสบู่ขาย ซึ่งนับได้ว่าเป็นทางหนึ่งของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ว่าที่นักเปลี่ยนแปลงสังคมเสือดใหม่กล่าวอีกว่า
เพื่อนๆชาว Gen Y, Gen Z หลังเรียนจบ มักเกิดความท้าทายอยากทำธุรกิจมากกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนแต่ทราบหรือไม่ว่า ที่ประเทศอังกฤษมีกิจการเพื่อสังคมประมาณ 70,000 กิจการ จ้างงานคนกว่า 2 ล้านคน และสร้างรายได้กว่า 24,000 ล้านปอนด์ให้กับเศรษฐกิจของประเทศ
…. จะเป็นอย่างไรหากพวกเรามาช่วยกันสร้างเศรษฐกิจสายพันธุ์ใหม่นี้ในประเทศไทยบ้าง มาช่วยกันสร้างความมั่งคั่งของการได้อยู่ในสังคมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี .. มาตอบแทนสังคมด้วยการสนับสนุนสินค้าและบริการของกิจการเพื่อสังคมกัน
.. กำไรของธุรกิจประเภทนี้จะส่งกลับไปตอบแทนสังคมตามพันธกิจที่ให้ไว้ ตามสโลแกนที่ว่า “กำไร = เงิน + ความสุขของทุกคน”
เราไม่จำเป็นต้องมีเงินมากมาย หรือมีการศึกษาสูงๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยเริ่มจากตัวเรา เริ่มจากสังคมเล็กๆที่เราอยู่ก่อนได้ เช่น ในครอบครัว หมู่บ้าน โรงเรียน เมื่อมองเห็นปัญหาให้ลองถามตัวเองว่า 'เราจะทำอย่างไรให้ปัญหานี้หมดไป' ลองใช้ความคิดสร้างสรรค์หาคำตอบใหม่ๆ แล้วจะแปลกใจกับคำตอบที่มันอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิดไว้ ซึ่งจริงๆแล้วก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสังคม คือการกล้าที่จะก้าวออกมาจากความคิดเดิมๆ” มินนี่กล่าวทิ้งท้าย