ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง "ยลพระเมรุมาศ สมมติเทวพิมาน" เป็นช่วงเวลาของการเข้าชมพระเมรุมาศ นิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) โดยกระทรวงวัฒนธรรมเปิดเข้าชมตั้งแต่เวลา 07.00 – 22.00 น. ของทุกวัน จนไปสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ประชาชนที่จะเข้าชมต้องผ่านจุดคัดกรอง 5 จุด บริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์, บริเวณท่าช้าง, หน้าหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (รด.), หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และด้านหลังกระทรวงกลาโหม แต่งกายด้วยชุดสุภาพเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก มีเต็นท์พักคอยรอการเข้าชม แบ่งเป็นกลุ่มๆ ละ 300 คน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและลดความแออัดในการเข้าชม โดยเเต่ละกลุ่มจะได้รับบัตรสีต่างๆ เพื่อจัดลำดับเวลาการเข้าชม มีวิทยากรโดยช่างแต่ละสาขาของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ให้ความรู้ตลอดการชม ส่วนข้อควรปฏิบัติ ถ่ายรูปในพื้นที่ที่กำหนด ไม่ล่วงล้ำแนวเขตกั้นพระเมรุมาศ ตลอดจนห้ามแตะสิ่งของที่นำมาจัดแสดง และไม่เด็ดไม้ดอกภายในงาน จุดแรกที่เข้าชม ระหว่างรอการเข้ามณฑลพระเมรุมาศ ถ่ายภาพบริเวณพื้นที่ด้านหน้าภูมิทัศน์ แสดงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แปลงนาข้าว คันนาเลข ๙ ฝายน้ำล้น กังหันชัยพัฒนา พืชพรรณไม้ต่างๆ ต้นมะม่วงมหาชนก ยางนา หญ้าแฝก และพืชผักสวนครัว ภูมิสถาปัตยกรรม สู่มณฑลพระเมรุมาศ เมื่อเดินผ่านรั้วราชวัติ พบอาคารต่างๆ จัดแสดงนิทรรศการ ภายในศาลาลูกขุนพบกับนิทรรศการแสดงการจัดสร้างพระเมรุมาศ และสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศ เนื้อหาแสดงถึงแนวคิดและขั้นตอนการทำงาน ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรมฉากบังเพลิง งานประณีตศิลป์ในส่วนของพระโกศจันทน์ พระโกศทองคำ และเครื่องสังเค็ด บรรยายโดยวิทยากรของแต่ละสาขาช่างกรมศิลปากร แบบร่างพระเมรุมาศ ด้านอาคารพระที่นั่งทรงธรรม จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ จิตรกรรมฝาผนังโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จาก 4,000 กว่าโครงการ คัดเหลือ 46 โครงการทั่วประเทศ มาอยู่บนผ้าแคนวาสภาพเขียนเสมือนจริงทั้ง 3 ผนัง ด้วยฝีมือจิตรกรนับ 100 ชีวิต จากกลุ่มจิตรกรรมสำนักช่างสิบหมู่ วิทยาลัยช่างศิลป และวิทยาลัยเพาะช่าง มทร.รัตนโกสินทร์ เครื่องสด ปาริชาติ ดอกไม้สวรรค์ ประดับพระจิตกาธาน โต๊ะทรงงาน ทรงเรียกว่า "เจ๊กตู้" และจุดที่ทุกคนสนใจอยู่ที่พระเมรุมาศ สถาปัตยกรรมทรงบุษบก 9 ยอด สูงตระหง่าน 55.18 เมตร ซึ่งหากผู้ชมได้ฟังวิทยากรบรรยายในศาลาลูกขุนมาแล้ว ทำให้การชมพระเมรุมาศมีความเข้าใจง่ายขึ้น ทั้งนี้ การชมไม่อนุญาตให้ขึ้นไปบนชั้นชาลาพระเมรุมาศ แต่สามารถเดินชมรอบๆ ลานได้ อย่างไรก็ดี กรมศิลปากรจัดทำแผ่นป้ายข้อความอธิบายองค์พระเมรุมาศแต่ละชั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง อีกทั้งแผ่นป้ายชื่อสัตว์หิมพานต์แต่ละชนิดติดตั้งบริเวณรอบสระอโนดาต สำหรับผู้พิการทางสายตา ทางฝ่ายนิทรรศการได้จัดแสดงบริเวณอาคารทับเกษตร โดยจำลองพระเมรุมาศ ประติมากรรมประดับพระเมรุ อาทิ เทวดา ครุฑยืน สัตว์หิมพานต์ เป็นต้น สามารถสัมผัสได้โดยมีอาสาสมัครนำชม จัดทำซีดีเสียงบรรยาย ส่วนผู้พิการทางการได้ยิน มีจิตอาสานำชมด้วยภาษามือ แน่นอนว่าทุกคนต้องการบันทึกภาพพระเมรุมาศเก็บไว้เป็นที่ระลึก ภาพพระเมรุมาศจะวิจิตรงดงามต้องถ่ายภาพช่วงเวลายามเย็น แสงตะวันรำไรจะขับผ้าทองย่นสีทององค์พระเมรุมาศ ยิ่งพลบค่ำไปแล้วแสงไฟที่สาดส่ององค์พระเมรุมาศ ขับผ้าทองย่นสีทองสุกสกาวทั้งองค์ดั่งเทพวิมาน ที่แต่ละชั้นชาลาพระเมรุมาศรายล้อมไปด้วยประติมากรรม พื้นลานรอบไปด้วยสระอโนดาต สัตว์หิมพานต์นานาชนิดประดับในสระ เสมือนเชิงเขาพระสุเมรุตามคติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลในไตรภูมิ บรรยากาศคืนเพ็ญเดือนสิบสอง ส่วนการชมราชรถ ราชยาน ที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” สามารถชมได้ที่โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในช่วงเวลาทำการพิพิธภัณฑ์ พระเมรุมาศ สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นชั่วคราวในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ นอกจากสร้างตามแบบแผนโบราณราชประเพณีตามคติในไตรภูมิลแล้ว ยังแสดงออกถึงงานช่างภูมิปัญญาชั้นสูง ศิลปกรรมของชาติไว้พร้อมสรรพ อันเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยด้วย นิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” จะเป็นความทรงจำอยู่ในใจชาวไทยนิจนิรันดร์