วันที่ 2 ก.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่บริเวณลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาอุดรธานี นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ และนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี เป็นประธานร่วมเปิดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า “ทุเรียนภูเขาไฟ และ GI อีสาน” มีนายวันชัย จันทร์พร นายจำรัส กังน้อย รองผวจ.อุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ นายกอบจ.อุดรธานี ดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี นายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์จังหวัดอุดรธานี หัวหน้าส่วนราชการทั้งภาครัฐ เอกชน ของจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดศรีสะเกษ เข้าร่วมงาน
โดยภายในงาน มีการควบคุมสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID 2019 ตามมาตรการของหน่วยงานภาครัฐอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขมาตรวจสอบผู้เข้าร่วมงาน และจัดให้มีการวัดอุณภูมิ สแกนไทยชนะ และลงทะเบียนก่อนเข้างานทุกคน
ด้าน น.ส.วาสนา อยู่ดี พาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่เป็นแหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจหลายชนิดของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดศรีสะเกษ มีทุเรียนหลายสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิต เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ และยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค สร้างเครือข่ายด้านตลาดการค้าทุเรียน (GI) ขับเคลื่อนไปพร้อมกับสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าอื่นๆของจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดทุเรียน (GI) และผลิตภัณฑ์จากทุเรียน โดยมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ดำเนินโครงการดังกล่าว ภายใต้ชื่องาน “ทุเรียนภูเขาไฟและ GI อีสาน” วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด การเชื่อมโยงเกษตรกรกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการสินค้าทุเรียน (GI) ผลิตภัณฑ์จากทุเรียน สินค้าเกษตรอินทรีย์สินค้าเกษตรคุณภาพ และสินค้า GI ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานแสดงและจำหน่าย โดยมีผู้ประกอบการและกลุ่มเกษตรกร นำสินค้ามาแสดงและจำหน่ายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 40 คูหา ระหว่างวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2564 ณ ลานโปรโมชั่นชั้น 1 เซ็นทรัลพลาซาอุดรธานี
ส่วนนายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า การส่งเสริมและพัฒนาสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นหนึ่งในนโยบายด้านการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยมีแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ ให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ ด้วยการส่งเสริมการค้า การลงทุนภายในท้องถิ่น สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าที่มีศักยภาพที่สำคัญของประเทศหลายชนิด เช่น ข้าวหอมมะลิ มันสำปะหลัง ผ้าไหม ผ้าทอมือ ฯลฯ และในปัจจุบันมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวน 29 ชนิด เช่น ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ หอมแดงศรีสะเกษ และกระเทียมศรีสะเกษ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ เนื้อโคขุนโพนยางคำ เป็นต้น
โดยเฉพาะ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ซึ่งปลูกในพื้นที่ดินภูเขาไฟ ที่เกิดจากหินภูเขาไฟผุพังมาจากหินบะซอลล์ ดินมีลักษณะเหนียว สีแดง ระบายน้ำดี มีธาตุอาหารชนิดต่างๆที่จำเป็นต่อพืชปริมาณสูง จึงทำให้ทุเรียนมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะ คือ เนื้อทุเรียนแห้ง นุ่มเหนียว และเส้นใยละเอียด มีกลิ่นหอมไม่ฉุนมาก รสชาติมันค่อนข้างหวาน นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาต่อยอดโดยนำดินภูเขาไฟ มาย้อมผ้า เรียกว่า ผ้าศรีลาวา ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ผ้าอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ เรียกว่า ผ้าเบญจศรี ได้แก่ ผ้าศรีลาวา ศรีมะดัน ศรีกุลา ศรีมะเกลือและศรีลำดวน การจัดงานครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีต่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการของจังหวัดศรีสะเกษและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักแก่ผู้บริโภคอย่างแพร่หลายนำไปสู่การเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งนายวัฒนา กล่าวต่อว่า ชาวอุดรรู้จักทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เป็นอย่างดี เพราะในปีที่ผ่านมาชาวอุดรธานีได้ไปเที่ยวสวนทุเรียนกันเป็นจำนวนมาก แต่ปีนี้การระบาดโควิดทำให้การท่องเที่ยวไม่สะดวก ดังนั้นเมื่อผลผลิตออกมา จึงนำมาเสิร์ฟให้ถึงบ้านเลย โดยจะคัดทุเรียนเกรดดีๆมาจำหน่ายให้ทานกัน และยังมีผลผลิตอื่นๆเช่น หอมแดง กระเทียม สะตอ กล้วยไข่ มังคุด ที่เป็นอัตลักษณ์ของดินภูเขาไฟ