ทุเรียนหลง-หลินลับแล และทุเรียนหมอนทอง ถือว่าเป็นผลไม้ที่สร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี สหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด สาขาหัวดง จึงใช้ระบบสหกรณ์มาดำเนินการรวบรวมผลผลิตจากเกษตรกร โดยเปิดเป็นอาคารรวบรวมทุเรียนเพื่อการส่งออก สหกรณ์ฯ สาขาหัวดง เพื่อเป็นตัวกลางในการซื้อขาย รวมถึงการคัดคุณภาพระหว่างเกษตรกรสมาชิกกับผู้ประกอบการ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยมีการรับรองคุณภาพ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ทำให้ราคาที่สมาชิกได้รับสูงกว่าตลาดทั่วไป
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นางสุธาสินี แดงแม่พูล ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด สาขาหัวดง เปิดเผยว่า สมาชิกของสหกรณ์ฯ สาขาหัวดง ซึ่งมีอยู่ 2,162 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนผลไม้ ทั้งทุเรียน ลองกอง มะยงชิด แต่มักประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำในช่วงที่มีผลไม้ออกสู่ตลาดมาก ทางสหกรณ์ฯ จึงมองว่าหากมีสถานที่รวบรวมผลผลิตและจัดจำหน่ายเพื่อช่วยเหลือสมาชิกก็จะช่วยแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำได้ คณะกรรมการสหกรณ์จึงมีมติใช้เงินดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ดำเนินการจัดสร้างอาคารรวบรวมผลไม้ (ล้ง) ขนาดพื้นที่ 1,320 ตารางเมตร ให้เป็นศูนย์รวบรวมและจัดจำหน่ายผลไม้ที่มีมาตรฐานตามระบบการจัดการที่ดี (Good Manufacturing Practice : GMP) เพื่อผลักดันผลผลิตส่งจำหน่ายไปยังต่างประเทศ แต่เนื่องจากเป็นปีแรกของการดำเนินงาน สหกรณ์ฯ ยังไม่มีประสบการณ์ ในเบื้องต้นจึงให้ผู้ประกอบการเข้ามาเช่าดำเนินการ โดยสหกรณ์ฯ และผู้ประกอบการได้ร่วมกันเปิดรับซื้อทุเรียนจากสมาชิก เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนมาตั้งแต่ช่วงประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2564 สหกรณ์ฯ ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการซื้อขายผลผลิตและการคัดคุณภาพระหว่างสมาชิกและผู้ประกอบการ พร้อมกับมีการรับรองคุณภาพมาตรฐานและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ดังนั้น สมาชิกจะต้องพัฒนาการผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP เท่านั้น จึงจะทำให้จำหน่ายทุเรียนได้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป
ทั้งนี้ สหกรณ์ฯ ได้มีการสำรวจและส่งเสริมให้สมาชิกจัดทำระบบ GAP ของผลผลิตแต่ละชนิด ส่งเสริมให้ลดการใช้สารเคมี รวมถึงการเรียนรู้และปรับใช้วิธีการใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลผลิตมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีการพิจารณาตั้งแต่พื้นที่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีลักษณะตรงตามความต้องการ และมีความปลอดภัยต่อการบริโภค ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 สหกรณ์ฯ มีจำนวนเกษตรกรสมาชิกที่จดทะเบียนรับรองแหล่งผลิต (GAP) ทุเรียนแล้ว 118 ราย รวมพื้นที่ 226 ไร่ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากสหกรณ์ฯ ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ในโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรสู่มาตรฐาน GAP ทำการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า ส่วนในด้านโรงคัดบรรจุผลไม้หรืออาคารรวบรวมผลผลิต (ล้ง) ก็จะต้องผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) เพื่อยืนยันสำหรับการส่งออกเช่นเดียวกัน
ผลจากการดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ ได้จัดส่งทุเรียนหลง-หลินลับแลชุดแรก ไปยังประเทศจีนและฮ่องกง จำนวน 200 กิโลกรัม โดยเป็นการทดลองเปิดตลาดในปีแรก ซึ่งได้ผลการตอบรับที่ดี และเตรียมดำเนินการจัดส่งรอบต่อไป ส่วนทุเรียนหมอนทอง ดำเนินการจัดส่งไปแล้วจำนวน 500 กว่าตัน มูลค่า 78 ล้านบาท คาดว่าตลอดทั้งปีนี้ สหกรณ์ฯ จะสามารถส่งออกทุเรียนได้ประมาณ 5,000 ตัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นหมอนทองและมีหลง-หลินลับแล บางส่วน
การที่สหกรณ์ฯ ดำเนินการจัดตั้งศูนย์รวบรวมผลผลิตและจัดจำหน่ายผลผลิตไปยังต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกได้จำหน่ายผลผลิตในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดและเป็นธรรม โดยทุเรียนเกรด A รับซื้ออยู่ที่ราคา 150 บาทต่อกิโลกรัม และเกรด B ราคา 90 บาทต่อกิโลกรัม (ราคา ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564) ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าตลาดทั่วไปประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้สมาชิกมั่นใจว่าสหกรณ์ฯ สามารถเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือสมาชิกได้ โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์คอยเข้ามาให้คำแนะนำและทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินงานของสหกรณ์ฯ มีความคล่องตัว
“การดำเนินงานของสหกรณ์ฯ ได้มีการนำวิธีการสหกรณ์เข้ามาบริหารจัดการเพื่อสร้างแรงจูงใจและเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับสมาชิก ซึ่งนอกจากสมาชิกได้จำหน่ายผลผลิตในราคาสูงและเป็นธรรมแล้ว สมาชิกได้รับเงินจัดสรรเฉลี่ยคืนอีก 2% จากยอดจำหน่ายของแต่ละรายอีกด้วย ซึ่งจะทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และมั่นใจในกระบวนการดำเนินงาน ซึ่งจากผลสำเร็จในปีนี้ สหกรณ์ฯ จึงได้วางเป้าหมายในปีต่อไปเพื่อให้สมาชิกนำผลผลิตมารวบรวมที่สหกรณ์ฯมากที่สุด โดยจ้าหน้าที่ของเรา ก็จะต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากผู้ประกอบการให้มากที่สุด แบ่งหน้าหน้าที่กันทำงานอย่างเป็นระบบ สหกรณ์เป็นผู้รวบรวมผลผลิต ผู้ประกอบการประสานงานเรื่องตลาด เพื่อความยั่งยืนต่อไปในอนาคต”นางสุธาสินี กล่าว
ด้านนายประสิทธิ์ ปทุมศรี สมาชิกของสหกรณ์การเกษตรเมืองลับแล จำกัด สาขาหัวดง กล่าวว่า ทำสวนทุเรียนอยู่ 40 ไร่ ก่อนหน้านี้จำหน่ายผลผลิตผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งมักไม่ค่อยได้ราคาที่พึงพอใจ แต่เมื่อสหกรณ์ฯ เปิดศูนย์รวบรวมผลผลิต จึงนำมาจำหน่ายที่สหกรณ์ ทำให้ได้ราคาสูงกว่าจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางเฉลี่ยกิโลกรัมละ 10 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าสวนจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น อีกทั้ง จะมีเงินจัดสรรเฉลี่ยคืนให้อีก 2% เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล ซึ่งทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จึงนับว่าเป็นบทบาทที่สำคัญของระบบสหกรณ์ ในการช่วยเหลือสมาชิกอีกทางหนึ่ง