วันที่ 2 ก.ค.จากที่ศูนย์การทหารราบ (ศร.) ค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปิดบ่อบำบัดขยะภายในพื้นที่ของศูนย์การทหารราบเนื่องจากหมดสัญญากับเทศบาลปราณบุรีตามที่ได้ขออนุญาตใช้พื้นที่เป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมเป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งครบกำหนดและให้ยุติการนำขยะไปทิ้งในพื้นที่ ศร.ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาลและ อบต.รวม 21 แห่งของ จ.ประจวบฯ ที่ต้องนำขยะปริมาณมากในแต่ละวันไปทิ้งในพื้นที่ ศร. ต้องได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่มีพื้นที่รองรับขยะได้ทัน โดยเฉพาะเทศบาลเมืองหัวหิน ซึ่งแต่ละวันมีขยะปริมาณขยะทำให้ขณะนี้มีกองขยะตกค้างตามถนนสายต่างๆในเขตเทศบาลเมืองหัวหินทั่วและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนเสียภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยว
นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน กล่าวว่า เทศบาลเมืองหัวหินมีปริมาณขยะเฉลี่ย150-180 ตันต่อวัน และขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะขนย้ายไปกำจัดข้ามเขตจังหวัดได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำขยะไปเทกองรวมกันไว้ชั่วคราวในพื้นที่บริเวณ 11 โค้ง 18 ไร่ของเทศบาล แต่อาจจะรองรับได้ไม่นาน โดยขอให้ประชาชนในเขตเทศบาลทราบว่าตอนนี้อาจจะมีขยะตกค้างอยู่ในหลายพื้นที่ซึ่งเทศบาลกำลังหาแนวทาง โดยจะหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ช่วยแก้ปัญหาให้กับท้องถิ่นที่ยังไม่มีพื้นที่ทิ้งขยะของตนเอง และอยากเสนอให้จังหวัดได้เจรจากับศูนย์การทหารราบ ขอให้พิจารณาผ่อนผันการนำขยะไปทิ้งที่บ่อบำบัดขยะได้เป็นการชั่วคราวไปก่อนเพื่อป้องกันปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งอาจจะกระทบต่อประชาชนและภาพลักษณ์ของเมืองหัวหินซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนตุลาคมนี้ ตามโครงการหัวหิน รีชาร์จ ทั้งนี้แต่ละท้องถิ่นจะเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาทั้งในระยะกลางและระยะยาวโดยเร็วซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งการนำขยะมาแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าก็ถือเป็นแนวทางที่ดีในระยะยาว
ด้านนายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้วางแผนจัดหาพื้นที่กำจัดขยะแห่งใหม่ ที่บ่อกำจัดขยะของบริษัทเอกชน ที่ ต.สระพัง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี แต่มีการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ ส่วนการจัดหาสถานที่ทิ้งขยะในที่ดินเอกชนที่ ต.บางโทรัด จ.สมุทรสาคร สภาเทศบาลให้ความเห็นชอบแล้ว แต่มีปัญหาในการบรรทุกขยะผ่านพื้นที่ จ.เพชรบุรี เนื่องจากมติกรรมการจัดการขยะระดับจังหวัดไม่ยอมให้นำขยะนอกพื้นที่เข้าจังหวัด ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเทศบาลต้องจัดหาสถานที่บำบัดขยะชั่วคราวให้เร็วสุดที่สุดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
นายสมนึก รุ่งกำจัด ประธานอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) จ.ประจวบฯ คณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัด กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นผู้บริหารเทศบาลหัวหินควรทำงานตามนโยนบายที่แถลงต่อสภา และเพื่อเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ผู้ว่าราชการจังหวัดควรสนใจทำหน้าที่ประธานการประชุมกรรมการจัดการขยะระดับจังหวัดด้วยตนเอง จากนั้นเชิญ 8 นายอำเภอ นายกเทศมนตรี นายก อบต.และ นายก อบจ.ร่วมประชุม โดยกำชับให้ผู้บริหารท้องถิ่นเข้าประชุมด้วยตนเองเท่านั้น เพื่อกำหนดแผนและแนวทางแก้ปัญหาในระยะสั้น ไทม์ไลน์ในการทำงาน โดยมอบหมายให้แต่ละอำเภอร่วมกันทำแผนหาวิธีการจัดขยะในลักษณะพึ่งพาตนเอง จากนั้นมีการติดตามประเมินผล.