ธารน้ำใจหลั่งไหล ช่วยคลัสเตอร์ฟันน้ำนม ที่ รพ.ขอนแก่น และ รพ.ศรีนครินทร์ ต่อเนื่อง ขณะที่อาการเด็กๆยังคงทรงตัว ตื่นเต้นกับของเล่นใหม่และขนม พบครูมีไข้ 1 รายต้องแยกการรักษาออกจากเด็ก ขณะที่ สสจ.เตรีมนำผู้ปกครองมาพบกับบุตร-หลาน หลังเข้าสู่วันที่ 2 ของการรักษา หวั่นโรคคิดถึงบ้านมาเยือนเด็กๆงอแงแน่
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 2 ก.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ รพ.ขอนแก่น ยังคงมีผู้มีจิตศรัทธา ทยอยกันนำสิ่งของมาบริจาคให้กับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ในกลุ่มคลัสเตอร์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กศรีสุข ซึ่งอยู่ในการดูแลของ อบต.ศรีสุข อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น ซึ่งสำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น ได้แยกการรักษาผู้ป่วยทั้งหมดออกเป็นที่ รพ.ขอนแก่น และ รพ.ศรีนครินทร์ ตามระบบการส่งต่อการรักษาของกระทรวงสาธารณสุขในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่
นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้มีจิตศรัทธาทุกคนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน ที่ทยอยส่งมอบกำลังใจให้กับผู้ป่วยเด็กและคณะครูทุกคนที่ รพ.ขอนแก่น และ รพ.ศรีนครินทร์ โดยรับตัวมาทำการรักษาตั้งแต่เมื่อวานที่ผ่านมา (1ก.ค.) ตาม ระบบการส่งต่อการรักษา แยกเป็น รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการรักษาผู้ป่วยที่เป็นครู 2 คน เด็ก 10 คน ขณะที่ รพ.ขอนแก่น ทำการรักษาผู้ป่วย ที่เป็นครู 6 คน และเด็ก 24 คนโดยอาการล่าสุดเช้าวันนี้ พบว่าครูที่รับการรักษาที่ รพ.ขอนแก่น มีไข้ 1 ราย ทีมแพทย์จึงแยกตัวทำการรักษาโดยเฉพาะ ขณะที่เด็กๆทุกคนนั้นไม่มีใครงอแง เชื่อฟังคำแนะนำของทีมแพทย์และพยาบาล ในขั้นตอนของการรักษาอย่างดี ทำกิจกรรมต่างๆ ตามขั้นตอนของการรักษาอย่างพร้อมเพรียงและที่สำคัญคือเด็กๆตื่นเต้นกับขนมและของเล่นใหม่ ที่ผู้ใจบุญนำมามอบให้อย่างมาก
“ตลอดทั้งวันมีผู้ใจบุญนำขนม,นม, ของเล่น ,แพมเพลิส, ขวดนม รวมไปถึงของใช้เด็กๆมามอบให้กับ ทั้ง 2 รพ. ที่รับการรักษาผู้ป่วยจากกลุ่มคลัวเตอร์ดังกล่าว รวมทั้งสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในการดำเนินงานด้านโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างขวัญกำลังใจให้กับ ผู้ป่วย และคณะทำงานได้อย่างมาก ขณะเดียวกันอาการของผู้ป่วยจากกลุ่มคลัสเตอร์ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หรือที่เรียกว่าคลัสเตอร์ฟันน้ำนมนั้นอาการทรงตัว ทีมแพทย์ทำการรักษาตามอาการ แต่ที่น่าห่วงวันนี้คือเด็กห่างจากบ้านเข้าสู่วันที่2 ซึ่งจะต้องคิดถึงบ้าน คิดถึงผู้ปกครองและอาจจะงอแง ได้ จึงเตรียมพิจารณานำผู้ปกครองของเด็กๆ มาพบกับบุตร-หลาน แต่ต้องดำเนินการอย่างรัดกุม เนื่องจากผู้ปกครองบางคนจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วย บางคนจัดอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง และบางกลุ่มอยู่ในกลุ่มกักตัว จึงจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์และบริหารจัดการเหตุการณ์ตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอน”