กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) เร่งเติมองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการในธุรกิจส่งออก 100 ราย ในโครงการความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจส่งออกรุ่นที่ 140 เพื่อเพิ่มโอกาสการทำการค้าระหว่างประเทศผ่านกลยุทธ์ที่สำคัญ อาทิ ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออก สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและพิธีการศุลกากร การคำนวนต้นทุนเพื่อการส่งออก เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ยังคงเดินหน้าจัดโครงการและหลักสูตรการทำการค้าผ่านช่องทางออนไลน์อีกกว่า 53 โครงการ โดยมุ่งเน้นการยกระดับหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการทำการค้าในยุคอีคอมเมิร์ซ การตลาดดิจิทัล การส่งเสริมธุรกิจและผู้ประกอบการในระดับภูมิภาค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ SMEs ไทยประสบปัญหา เช่นเดียวกับหลายภาคการผลิต และ SMEs ทั่วโลก หากเราสามารถพลิกวิกฤต สถานการณ์โควิดเป็นโอกาสได้ SMEs ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวและเติบโตต่อไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์จึงกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหา หนึ่งในแผนงานที่จัดทำในปี 2564 คือ การพัฒนาศักยภาพทางการตลาดให้กับภาคการผลิตฐานรากทั้ง SMEs และ Micro SMEs ทั้งนี้จะช่วยอบรมให้ความรู้ ช่วยหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ ด้วยมองว่า SMEs นั้นเป็นหัวใจสำคัญของฐานเศรษฐกิจรากฐานของประเทศ โดยมีผู้ประกอบการรวมกันประมาณ 3 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 95 ของผู้ประกอบการทั่วประเทศ และที่ผ่านมาต้องถือว่า SMEs มีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน กระจายรายได้ และถือเป็นฐานการผลิตที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้งการที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นภาคส่งออกที่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเป็นลำดับในอนาคต นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากแผนกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ได้ร่วมกันจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจส่งออก” เป็นรุ่นที่ 140 โดยได้คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทั้งรายเก่าและรายใหม่ จำนวน 100 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตร และอาหารแปรรูป ร่วมเตรียมความพร้อมและเสริมกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในทุกๆมิติ ก่อนเข้าสู่กระบวนการการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศในเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผู้ประกอบธุรกิจไทยมีโอกาสส่งออกในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจคลี่คลายในอนาคตอีกด้วย สำหรับโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจส่งออก” เป็นหลักสูตรเพื่อสนับสนุนการส่งออกต้นฉบับของไทยที่ครอบคลุมทุกเนื้อหามาอย่างยาวนาน ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีหลักสูตรที่สำคัญ เช่น ขั้นตอนการดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออก การบรรจุภัณฑ์สำหรับการส่งออก สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและพิธีการศุลกากร ทรัพย์สินทางปัญญา การคำนวณต้นทุนเพื่อการส่งออก รวมถึงยังได้รับความร่วมมือจากผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในด้านการส่งออก ร่วมแบ่งปันความรู้และเทคนิคที่สำคัญ อาทิ คุณพรชัย พัวพัฒนขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท Fruit Organic จำกัด คุณจิรชัย ตั้งกิจงามวงศ์ นักผลิตเฟอร์นิเจอร์รุ่นใหม่ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด คุณสมชนะ กังวารจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร้อมดีไซน์ จำกัด เป็นต้น โดยกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเติบโตของผู้ประกอบการ และการส่งออกสินค้ามีความผันผวนและไม่แน่นอน และยังได้ผลักดันแนวทางการรับมือที่จำเป็นที่สุดอย่างการส่งเสริมองค์ความรู้ที่ทันกับการเปลี่ยนแปลง พร้อมด้วยกลยุทธ์ที่สามารถนำไปใช้ได้ทันทีหากเข้าสู่สภาวะปกติ ผ่านการจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการในช่องทางออนไลน์ “E-Academy” รวมกว่า 56 หลักสูตร เพื่อมุ่งเน้นการยกระดับหลากหลายด้าน เช่น การทำการค้าในยุคอีคอมเมิร์ซ การขายสินค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน การตลาดดิจิทัล การส่งเสริมธุรกิจและผู้ประกอบการในระดับภูมิภาค ฯลฯ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) www.ditp.go.th และ www.facebook.com/nea.ditp