กรมชลประทาน เดินหน้าศึกษาหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองอุบลราชธานี หวังบรรเทาและลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด ย้ำเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การดำเนินโครงการฯเกิดประโยชน์สูงสุดและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จากอิทธิพลของพายุโพดุลและพายุคาจิกิ เมื่อปี 2562 ส่งผลให้เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล สร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นวงกว้าง รัฐบาลโดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองอุบลราชธานี ซึ่งในส่วนของกรมชลประทาน ได้วางแผนการศึกษาแนวทางเพื่อบรรเทาอุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี โดยให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยทั้งในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร ตลอดจนศึกษาความต้องการใช้น้ำเพื่อการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ด้วย
สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมเพื่อบรรเทาอุทกภัย จังหวัดอุบลราชธานี มีขอบเขตการศึกษาคลอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ในลุ่มน้ำชีตอนล่างและลุ่มน้ำมูลตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี โดยการก่อสร้างคลองผันน้ำเป็นคลองเปิดขนาดใหญ่ มีอาคารประตูระบายน้ำบริเวณปากคลองผันน้ำ ซึ่งรับน้ำจากห้วยขะยุง(เหนือเขื่อนหัวนา) และแม่น้ำมูล(ท้ายเขื่อนหัวนา)รวมระยะทางกว่า 96 กิโลเมตร สามารถระบายน้ำได้รวมกันประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จช่วยบรรเทาและลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ได้ในระยะยาวต่อไป พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารบังคับน้ำกลางคลอง และปลายคลองผันน้ำ เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ในเรื่องการเกษตร และอุปโภค-บริโภค อีกด้วย