NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ ตระการตากับภาพซากซูเปอร์โนวา “Cas A” ในหลากหลายความยาวคลื่น นี่คือภาพถ่ายซากซูเปอร์โนวา “แคสสิโอเปีย เอ (Cassiopeia A)” จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศต่างๆ ดังนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา : สีส้มแสดงถึงเหล็ก สีม่วงแสดงถึงออกซิเจน สีเขียวแสดงถึงซิลิคอนและแมกนิเซียม กล้องโทรทรรศน์อวกาศ NuSTAR : สีฟ้าแสดงถึงไทเทเนียม กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล : สีเหลืองแสดงถึงช่วงคลื่นที่ตามองเห็น ออกซิเจน สีส้มแสดงถึงเหล็ก ซูเปอร์โนวาแคสสิโอเปีย เอ หรือ Cas A ห่างจากโลกประมาณ 11,000 ปีแสง อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก มีอายุประมาณ 350 ปี เป็นหนึ่งในซากซูเปอร์โนวาอายุน้อยที่โด่งดัง เกิดจากการระเบิดของดาวฤกษ์ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 10 เท่า เมื่อเชื้อเพลิงปฏิกิริยานิวเคลียร์ของดาวฤกษ์หมดลง แกนกลางของดาวจะยุบตัวลงกลายเป็น “ดาวนิวตรอน” ที่มีขนาดเล็กและมีความหนาแน่นสูงมาก ส่วนเปลือกชั้นนอกของดาวจะสาดกระจัดกระจายออกไปอย่างรุนแรง แต่อย่างไรก็ดี กระบวนการใดที่ทำให้สสารฟุ้งกระจายออกไปอย่างรุนแรงยังคงเป็นปริศนา ล่าสุด งานวิจัยนำทีมโดย Toshiki Sato จากมหาวิทยาลัย Rikkyo ในประเทศญี่ปุ่น ศึกษาซูเปอร์โนวา Cas A โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรา ร่วมกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศ NuSTAR พบว่า ไทเทเนียมและโครเมียม (สีฟ้า) ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในซูเปอร์โนวา Cas A มีลักษณะการกระจายตัวที่สัมพันธ์กับเหล็ก (สีส้ม) ดังแสดงในภาพประกอบ ซึ่งความสำคัญของผลการวิจัยนี้ คือ ไทเทเนียมที่พบเป็นไทเทเนียมที่มีความสเถียร บ่งชี้ถึงค่าอุณหภูมิและความดันที่จำเพาะ สอดคล้องกับแบบจำลองการเกิดซูเปอร์โนวาที่สนับสนุนว่า อนุภาค “นิวตริโน” มีส่วนสำคัญในการขับดันมวลสารให้กระจายตัวไปในอวกาศเร็วขึ้น เรียบเรียง : กฤษดา รุจิรานุกูล - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. อ้างอิง : https://www.nasa.gov/.../bubbles-with-titanium-trigger...