นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า เทศกาลวันลอยกระทงนี้นั้น กล้วยก็มีส่วนสำคัญและผูกพันในวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน คนไทยรู้จักใช้ประโยชน์จากต้นกล้วย นอกจากบริโภคเป็นอาหารแล้ว ทุกส่วนของกล้วยยังนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ กล้วยมีสารอาหารเกือบทุกชนิดที่ร่างกายต้องการ
ในกล้วยน้ำว้า 1 ผลเล็ก (40 กรัม) มีพลังงาน 59 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินและเกลือแร่ อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ กลุ่มวิตามินบี วิตามินซี กล้วยดิบ มีรสฝาด แก้ท้องเสีย สมานแผลในลำไส้ และที่สามารถแก้ท้องเสียได้เนื่องจากมีสารแทนนิน
กล้วยห่าม รสฝาดออกหวาน บำรุงร่างกาย กล้วยสุก รสหวานบำรุงร่างกายทำให้สดชื่น แก้โรคท้องผูก ช่วยขับถ่าย กล้วยสุกงอม รสหวานจัด บำรุงร่างกายเพิ่มพลังงาน สาเหตุที่กล้วยสามารถช่วยในขับถ่ายได้ เนื่องจากมีสารสำคัญ คือ เพคติน ซึ่งเป็นสารประกอบจำพวกคาร์โบไฮเดรตโมเลกุลใหญ่ และยังมีคุณสมบัติเป็นกากใย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยเพคตินได้ จึงเป็นกากใยช่วยในการขับถ่าย ลำต้นหรือหยวกกล้วย ใช้เป็นอาหารคนและสัตว์ และยังนิยมนำมาทำฐานกระทง ตกแต่งด้วยกลีบของใบตองให้สวยงามได้อีกด้วย
สำหรับยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ คือ ยากล้วยชนิดผง มีตัวยาสำคัญ ได้แก่ ผงกล้วยน้ำว้าชนิดแก่ หรือกล้วยหักมุกชนิดแก่จัด สามารถใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการท้องเสีย มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย เช่น อุจจาระ ไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปน วิธีใช้ให้รับประทานครั้งละ10กรัม ชงน้ำร้อน120 - 200มิลลิลิตร วันละ3ครั้ง ก่อนอาหาร สำหรับข้อควรระวังไม่ควรใช้กับผู้ที่มีอาการท้องผูก และการรับประทานยานี้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้ท้องอืดได้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ Call Center 0-2591-7007ต่อกองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยฯ หรือศึกษาข้อมูลในแอพลิเคชั่นสมุนไพรไทย (Thai Herbs)